×

สภานิสิตจุฬาฯ ออกแถลงการณ์ขอศิษย์เก่าสมาชิกรัฐสภา-ครม. ทำตามข้อเรียกร้อง ‘คณากร’

โดย THE STANDARD TEAM
07.10.2019
  • LOADING...
สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันนี้ (7 ตุลาคม) สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ ขอให้ผู้มีอำนาจได้ดำเนินการในกรณีของ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ที่ตัดสินยกฟ้องจำเลย 5 คน ก่อนจะใช้อาวุธปืนยิงตัวเองบาดเจ็บสาหัส และต่อมาพบแถลงการณ์เรื่องราวของการดำเนินคดี และมีข้อเรียกร้องขอสภาฯ ให้ออกกฎหมายห้ามตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง และขอความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ มีใจความว่า

 

แถลงการณ์สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่อง ขอให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับกรณีของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ

 

จากกรณีที่นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองภายในห้องพิจารณาคดี อาคารสำนักงานศาลจังหวัดยะลา จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้พิพากษาคณากรได้เผยแพร่คำแถลงการณ์จำนวน 25 หน้า มีประเด็นสำคัญที่ว่า คดีความที่ผู้พิพากษาคณากรได้รับหน้าที่ให้ทำการพิจารณาตัดสินคดี เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมอันเป็นคุณค่าสำคัญยิ่งของสังคม ได้รับกล่าวอ้างว่าถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจในโครงสร้างระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย 

 

อีกทั้งแถลงการณ์ของผู้พิพากษาคณากรได้ระบุถึงข้อเรียกร้องจำนวน 2 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ “เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติ ออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ทั้งห้ามกระทำใด ๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา” อันถือเป็นแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดการแทรกแซงเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาของคำพิพากษา

 

การพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาจะต้องเป็นอิสระจากการแทรกแซงทั้งปวง เพื่อให้คงไว้ซึ่งความยุติธรรมอันสะท้อนผ่านคำพิพากษาของศาล ซึ่งได้ระบุถึงเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมาย ที่ได้รับการปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาคนหนึ่งซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวแทนของกระบวนการยุติธรรมออกมาพูดถึง “ความไม่เป็นอิสระของการพิจารณาพิพากษาคดี” เรื่องนี้ถือเป็นการชี้ให้เห็นถึงรอยด่างแห่งกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็ไม่มีสิ่งใดที่จะรับประกันได้ว่า จะไม่มีรอยด่างเช่นนี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมอีก

 

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อมั่นความยุติธรรมในฐานะ “คุณค่าอันจำเป็นอย่างยิ่งในสังคม” ดังนั้น จึงใคร่ขอให้ศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นสมาชิกรัฐสภา ทั้งในส่วนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี รวมถึงผู้มีอำนาจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง รวมถึงให้ความคุ้มครองดูแลผู้พิพากษาคณากรโดยเร็ว เพื่อให้สมดังแถลงการณ์ตอนหนึ่งของผู้พิพากษาคณากรที่ว่า “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

 

“เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน”

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

6 ตุลาคม 2562

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising