วันจันทร์ที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดตัวโครงการ ‘เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม’ หรือ SID (Siam Innovation District) เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ย่านสยาม ใจกลางกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ด้านนวัตกรรมและยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วางเป้าหมายหลักของเมืองนวัตกรรมแห่งสยามไว้ทั้งหมด 4 ประการ เพื่อให้ SID ทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อมระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม โดยจะช่วยให้ทั้งสองภาคส่วนสนับสนุนความต้องการระหว่างกันและเข้าถึงกันได้ง่ายมากขึ้น
พันธกิจทั้ง 4 ประการของ SID ประกอบไปด้วย
- การจัดการสิทธิเทคโนโลยีและสร้างงานวิจัยที่สนับสนุนโดยภาคอุตสาหกรรม โดยจะร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ
- การเป็นตลาดนวัตกรรม เพื่อให้นวัตกรรมและโครงการวิจัยต่างๆ ได้รับการต่อยอดทางธุรกิจและให้เกิดมูลค่า
- การฉายภาพร่วมสร้างอนาคต เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนได้เกิดการร่วมคิด ร่วมอภิปราย และร่วมสร้างอนาคตของสังคมไทยในมิติต่างๆ ไปด้วยกัน ทั้งอนาคตความเป็นอยู่ อาหาร การเดินทาง และการเรียนรู้ โดยจะเปิดให้พื้นที่บริเวณสยามสแควร์กลายเป็นห้องทดลองแห่งอนาคต
- การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างบุคลากรที่ดีและมีความสามารถผ่านกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการจัดอบรม จัดโครงการประกวดแข่งขัน และสร้างเครือข่ายผู้ให้คำปรึกษา
ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า “ถ้าเป็นไปได้ ทุกคนคงอยากรู้อนาคต และอนาคตของสังคมที่ดีไม่ควรถูกกำหนดจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรเป็นอนาคตที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนด งาน Our Futures 2030 จึงเป็นโครงการทดลองภายใต้ความริเริ่มเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม เพื่อนำเสนอแนวความคิดและกลไกที่นำอนาคตมาเป็นเครื่องมือออกแบบขับเคลื่อน จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนให้มาร่วมงาน จะได้มาร่วมคิด ร่วมคุย และสร้างอนาคตด้วยกัน”
โดยในวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคมนี้ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะจัดงาน Our Futures 2030 ขึ้น โดยให้ผู้เข้าร่วมงานได้พูดคุยและสร้างอนาคตผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อมองภาพอนาคตในปี 2030 ร่วมกันที่บริเวณศูนย์การค้าสยามสแควร์ วัน และทางเชื่อมสถานี BTS สยาม
ภายในงานยังมีกิจกรรมการพูดคุยกับ BNK48 ในหัวข้อ City of New Generation ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในงานได้ที่ siaminnovationdistrict.com/our-futures-2030