×

แพทย์จุฬาฯ เผยวิกฤตเตียง ต้องนำเคสหนักออก เลือกเคสหนักกว่าเข้า ICU แทน โควิดเริ่มกระทบผู้ป่วยโรคอื่น

29.06.2021
  • LOADING...
แพทย์จุฬาฯ

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามารักษาในโรงพยาบาลสูงต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ป่วยอาการหนักไม่สามารถรักษาให้กลับบ้านได้ง่าย กลายเป็นว่าสัดส่วนของผู้ป่วยอาการหนักก็จะอยู่ที่โรงพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ยอมรับว่าศักยภาพของการรับผู้ป่วยเริ่มตึงตัว เพราะตอนนี้มีเคสที่นอนครองเตียง ICU นานขึ้น ทำให้บางวันเตียง ICU เหลือศูนย์เตียง

 

“เคสที่จะเป็นปัญหาคือสีแดงที่ต้องนอน ICU นอนนานเกินกว่าที่เราคิด เช่น สัปดาห์ถึงสองสัปดาห์นอน ICU ส่วนหนึ่งก็จะดีขึ้นและย้ายออกจาก ICU ได้ ส่วนหนึ่งเพราะเคสหนักขึ้นทำให้นอนครองเตียงนานขึ้น เพราะฉะนั้นเตียง ICU น้อยลง บางวันไม่ได้เปิดเตียง ICU เลย ICU เป็นศูนย์เคส (สีแดง) ก็ต้องนอนรอค้างอยู่ที่ห้องฉุกเฉินจนกว่าเราจะเคลียร์ได้ ซึ่งเป็นปัญหาในปัจจุบันและคิดว่าโรงพยาบาลใหญ่ในกรุงเทพมหานครจะมีปัญหาคล้ายๆ กัน”

 

เมื่อถามว่าการรอมีผู้ป่วยหนักต้องรอเตียง ICU ส่งผลให้จำนวนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่

 

ผศ.นพ.โอภาสกล่าวว่า ผลจะตามมาเป็นทอดๆ เพราะเคสที่ต้องรอจะเข้า ICU แต่ยังไม่ได้เข้าก็จะเสียโอกาสในการได้รับการรักษาบางอย่าง เช่น เครื่องช่วยหายใจระดับสูง การใช้ยาบางตัว มันก็จะเป็นทอดๆ ทั้งเคสที่เข้า ICU ไม่ได้ เคสตกค้างที่ห้องฉุกเฉินก็เยอะ มันก็จะเป็นผลเสีย

 

ปัจจุบันเราเห็นว่าเคสที่เข้าโรงพยาบาลมีอาการหนักมาจากบ้านเลยต่างจากการระบาดรอบก่อนหน้านี้ ก็แสดงว่ามีการตกค้างอยู่ในบ้านในชุมชนที่เข้ามาโรงพยาบาลไม่ได้ ขณะที่บางคนที่ไม่ได้ตรวจก็ไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ

 

“หน้างานมันตึง เริ่มใกล้จะทำให้ศักยภาพมันไม่พอแล้ว ตอนนี้สิ่งที่ทำอยู่คือการขยายเตียง แต่มันยังทำได้ไม่มากพอ เพราะการขยายเตียงสิ่งที่ต้องการคือเตียง ICU ซึ่งไม่ได้ต้องการแต่เตียง เพราะเตียงมี พื้นที่มี แต่คนไม่มี ถามว่ามันจะล่มไหม ณ วันนี้มันยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่จะบอกว่ามันตึงที่สุดเลยเท่าที่เราผ่านการระบาดมา” ผศ.นพ.โอภาสกล่าว

 

ผศ.นพ.โอภาสยอมรับว่าการบริหารจัดการหน้างานตอนนี้ เคสที่หนักซึ่งนอน ICU มานานพอสมควร แต่มีบางเคสเราต้องย้ายออกมาเพราะมีเคสที่หนักกว่า ซึ่งปกติการนำเคสที่ยังต้องอยู่ ICU ออกมาอยู่วอร์ดสามัญก็อาจทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่เราต้องจัดลำดับความสำคัญกับเคสที่ต้องการ ICU มากกว่า ตอนนี้ในโรงพยาบาลจุฬาฯ อัตราการครองเตียง 90% และเตียงเริ่มน้อยลงทุกที มีบางช่วงใกล้ 100% แต่มีการระบายออกได้บ้างทำให้ต่อลมหายใจได้อีกระยะหนึ่ง ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลตอนนี้ใช้หน่วยอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับโควิดมาอบรมมาเสริมกำลังดูแลผู้ป่วยโควิด

 

เมื่อถามว่าการระดมทรัพยากรมาที่โรคโควิดส่งผลถึงการรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ ในโรงพยาบาลหรือไม่

 

ผศ.นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่งผลแน่นอน และมีทุกโรคเลยที่ได้รับผลกระทบซึ่งจะเห็นผลในอีกระยะต่อไปข้างหน้า เพราะโรคบางโรคมันรอไม่ได้เหมือนกัน เช่น คนไข้ที่จะต้องรอผ่าตัด คนไข้มะเร็งที่ต้องรอฉายแสง ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นผลกระทบที่คนไข้ที่ไม่ใช่โควิดเริ่มกลับมานอนโรงพยาบาลด้วยอาการที่หนักขึ้น

 

สำหรับทางแก้ปัญหาแบ่งเป็นระยะสั้นกับระยะยาว ระยะสั้นคือการเพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยสีเขียวและเพิ่มบุคลากรให้พอก่อน ระยะยาวคือการทำให้ไม่มีผู้ป่วยเคสหนักเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้วัคซีนเป็นตัวช่วย แต่ตอนนี้อัตราการระบาดกับอัตราการฉีดวัคซีนมันไปไม่ทันกัน

 

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้โรงพยาบาลทุกที่เริ่มส่งเสียงออกไปแล้วว่าเตียงไม่พอ คิดว่าผู้กำหนดนโยบายเข้าใจสถานการณ์ แต่ปัญหาอยู่ที่การประสานกันระหว่างหน่วยงานโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะการควบคุมการระบาดเริ่มตั้งแต่การตรวจหาเชื้อที่ยังไม่ครอบคลุม หลังการตรวจเมื่อพบเชื้อจะเอาไปไว้ที่ไหนตามสิทธิ์การรักษาพยาบาล เช่น แรงงานที่ติดโควิดมีทั้งแบบที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

 

ผศ.นพ.โอภาสยอมรับด้วยว่า เป็นธรรมดาที่บุคลากรทางการแพทย์ช่วงนี้เกิดภาวะเครียดเพราะรับมือมานานเกือบ 2 ปี และการระบาดยังไม่มีท่าทีจะลดลง สิ่งที่ต้องการคือกำลังใจ แต่กำลังใจก็ยังต้องการน้อยกว่าการทำอย่างไรให้การระบาดมันน้อยลงและให้เราได้มีจุดหายใจได้โล่งขึ้น เพราะตอนนี้บุคลากรด่านหน้าเริ่มเหนื่อยล้าและอาจถึงจุดที่ Burnout ได้ถ้ามันยังเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X