“สิ่งที่จะชนะปัญญาประดิษฐ์คือปัญญาที่ไม่ต้องประดิษฐ์ จุฬาฯ มองว่า AI จะถูกใช้เพื่อเสริมทักษะและปัญญาของผู้เรียนให้ดีขึ้น” ศ. ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงวิสัยทัศน์ด้าน AI ของมหาวิทยาลัย
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ OpenAI เปิดให้โลกรู้จักและทดลองสัมผัสศักยภาพของ ChatGPT การใช้เทคโนโลยี AI ก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน แม้ว่าคนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงแอปพลิเคชัน AI ได้หลากหลายและเลือกใช้ได้ตามที่ตนต้องการ แต่ผู้ใช้งานระดับองค์กร เช่น ภาคธุรกิจ รวมถึงภาคการศึกษา กลับต้องการเทคโนโลยีที่ตนสามารถกำหนดกฎเกณฑ์การใช้งานเพื่อควบคุมความปลอดภัยให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ล่าสุดในฝั่งของภาคการศึกษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับ Google Cloud ประกาศเปิดตัวโครงการ ‘ChulaGENIE’ แอปพลิเคชันที่นำเทคโนโลยี Generative AI มาให้บุคลากรและนิสิตจุฬาฯ ราว 50,000 คนได้ใช้งานอย่างปลอดภัย เชื่อถือได้ และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมหาวิทยาลัยคาดว่า ChulaGENIE จะเปิดให้บุคลากรใช้งานในเดือนมกราคม 2568 ในระยะแรก และจะเปิดให้บริการกับนิสิตทุกคนภายในเดือนมีนาคม 2568
ChulaGENIE พัฒนาขึ้นบน Vertex AI ของ Google Cloud ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถค้นหาและเลือกใช้โมเดล AI ที่มีจุดแข็งและความเหมาะสมกับการใช้งานที่ต่างกัน โดยในระยะแรกผู้ใช้สามารถใช้งาน Gemini 1.5 Flash หรือ Gemini 1.5 Pro ของ Google และในอนาคตอันใกล้จะมีตัวเลือกในการใช้โมเดล Claude จาก Anthropic และโมเดล Llama จาก Meta อีกด้วย
ChulaGENIE สามารถรองรับหลายภาษา (Multilinguality) เพื่ออธิบายหัวข้อที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย รวมถึงการสร้างเนื้อหาในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ
นอกจากนี้ ChulaGENIE ยังสามารถรองรับข้อมูลหลายประเภท (Multimodality) และมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Long Context Window’ หรือความสามารถในการประมวลผลข้อมูลในปริมาณที่มาก เช่น เอกสารงานวิจัยที่มีความยาว 1.4 ล้านคำ พร้อมตาราง แผนภูมิ และภาพประกอบ ทำให้ผู้ใช้สามารถอัปโหลดเอกสารที่มีความยาวและซับซ้อนเพื่อให้โมเดลช่วยผู้ใช้ดึงหรือวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการสร้างผลิตภาพให้กับนิสิตที่ต้องการวิเคราะห์ชุดข้อมูลจำนวนมาก
ศ. ดร.วิเลิศ กล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีแอปพลิเคชัน Generative AI สำหรับการใช้งานเพื่อการศึกษาและวิจัยในระดับอุดมศึกษา โดยจุฬาฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนา ChulaGENIE ให้ดียิ่งขึ้น และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม AI ด้านการศึกษาที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศให้ใช้งานได้จริง เพื่อสนับสนุนการศึกษาทุกระดับ”
ตัวอย่างหน้าตาการใช้งาน ChulaGENIE
นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังเตรียมเพิ่มฟังก์ชันใหม่บน ChulaGENIE ที่จะสามารถสร้างตัวช่วยเฉพาะทางที่ปรับแต่งสำหรับงานเฉพาะด้าน โดยมีตัวอย่างดังนี้:
- ตัวช่วยด้านการวิจัยที่ถูกปรับแต่งในประเด็นเฉพาะ เช่น ประสิทธิภาพของเทคนิคการกักเก็บคาร์บอนต่างๆ ในวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือการปรับปรุงการจราจรในเขตเมืองในด้านวิศวกรรมโยธา ซึ่งจะช่วยให้อาจารย์และนิสิตสามารถเชื่อมโยงหรือค้นหาความเชื่อมโยงในงานวิจัย รวมถึงเสนอคำถามหรือสมมติฐานใหม่ๆ ได้
- ตัวช่วยด้านการศึกษาที่พัฒนาจากตำรา หรือฐานข้อมูลด้านการศึกษาและอาชีพ พร้อมข้อมูลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อพิจารณาด้านจริยธรรม ช่วยให้นิสิตได้รับคำแนะนำที่ปรับให้เหมาะสมและเฉพาะบุคคลในการเลือกหลักสูตรและการวางแผนเส้นทางอาชีพได้
- ตัวช่วยด้านการบริหารและธุรการที่สามารถเข้าใจและตอบคำถามในประเด็นต่างๆ เช่น การสมัครเรียน การลงทะเบียน ทุนการศึกษา การจัดการอาคารสถานที่ หรือการสนับสนุนด้าน IT
สำหรับ 2 เหตุผลหลักที่จุฬาฯ จำเป็นต้องมีเทคโนโลยี Generative AI ของตัวเอง คือ ‘ความปลอดภัย’ และ ‘ความถูกต้อง’ ของข้อมูล ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมการเข้าถึงระดับองค์กรของ Google Cloud ที่คำสั่งหรือข้อมูล รวมถึงคำตอบจะไม่ถูกผู้พัฒนาโมเดลนอกจุฬาฯ นำไปใช้ต่อเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งการมี Generative AI ของมหาวิทยาลัยทำให้การสร้างคำตอบของแชตบอตมีความแม่นยำ เนื่องจากข้อมูลสาธารณะบนอินเทอร์เน็ตบางแห่งอาจมีปัญหาความคลาดเคลื่อน และนำมาสู่ความเสี่ยงต่อการเรียนรู้ของนิสิตได้
ในอนาคต จุฬาฯ มีแผนที่จะขยายความร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่แบบ Open Source ที่เน้นเฉพาะด้านสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งสามารถนำไปใช้พัฒนาแอปพลิเคชันให้เหมาะกับความเร็วและรูปแบบการเรียนรู้ของนิสิตแต่ละคน โดยให้แบบฝึกหัด คำอธิบาย และข้อเสนอแนะที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการ อีกทั้งโมเดลดังกล่าวยังสามารถสนับสนุนแอปพลิเคชันที่วิเคราะห์หลักสูตรที่มีอยู่ เพื่อหาจุดที่ควรปรับปรุงและเสนอแนวทางแก้ไข โดยอ้างอิงจากงานวิจัยล่าสุดและแนวโน้มด้านการศึกษาในปัจจุบัน
สำหรับประเด็นที่ว่า AI จะมาทำให้ผู้เรียนพยายามหาทางลัดและใช้เทคโนโลยีในการทำงานแทนหรือไม่ ศ. ดร.วิเลิศ มองว่า จะไม่น่ากังวลอย่างที่หลายคนคิด แต่จะเป็นเครื่องมือที่ให้ประโยชน์มากกว่า เหมือนกันกับบทบาทของอินเทอร์เน็ต
“ในยุคแรกที่อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น ผู้เรียนถูกห้ามไม่ให้ค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตและต้องไปที่ห้องสมุดแทน แต่วันนี้ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าอินเทอร์เน็ตถูกใช้งานโดยคนทั่วโลกมากขนาดไหน ซึ่ง AI ในอนาคตก็จะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน”