×

คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ออกแถลงการณ์ จี้รัฐยุติคุกคามสื่อ ขอสื่อทำหน้าที่ตามหลักจริยธรรม

โดย THE STANDARD TEAM
01.03.2021
  • LOADING...
คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ออกแถลงการณ์ จี้รัฐยุติคุกคามสื่อ ขอสื่อทำหน้าที่ตามหลักจริยธรรม

วันนี้ (1 มีนาคม) สืบเนื่องจากกรณีการสลายการชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 1 เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ประณามการคุกคามสื่อมวลชนที่รายงานข่าวการชุมนุมโดยรัฐผ่านการใช้อำนาจอันมิชอบ

 

โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากการชุมนุมของประชาชนอย่างสันติตามหลักสากล และสื่อมวลชนทุกแขนงเองก็ได้ให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ดังกล่าว จึงได้เข้าร่วมรายงานสถานการณ์ตลอดการชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ใช้วิธีการต่างๆ ในการปิดกั้นการรายงานข่าวสารที่จำเป็นต่อประชาชน ตลอดจนกระทั่งมีการใช้ความรุนแรงต่อสื่อมวลชนและประชาชนที่ข้าร่วมชุมนุม รวมไปถึงมีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งรายงานข้อมูลที่ไม่ตรงข้อเท็จจริง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเวลาประมาณ 21.16 น. นักข่าวสถานีโทรทัศน์รายหนึ่งถูกกระสุนยางจากจ้าหน้าที่ตำรวจยิงใส่ จึงทำให้สัญญาณภาพการออกอากาศถูกตัด รวมไปถึงมีการควบคุมตัวประชาชนผู้ข้าร่วมชุมนุมอีกจำนวนหนึ่ง การกระทำดังกล่วนับว่าเป็นการคุกคามสื่อมวลชนและประชาชนอย่างชัดเจนโดยรัฐ ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพของสื่อ ซึ่งก็คือสิทธิเสรีภาพของประชาชน และละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี

 

ตั้งแต่ปี 2540 ข้อ 9 ที่ระบุว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความกังวลต่อการใช้กฎหมายและอำนาจอันมิชอบในการควบคุมการสื่อสารในสถานการณ์การชุมนุม จึงได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐและองค์กรสื่อทุกแขนง ดังนี้

 

  1. ขอให้รัฐยุติการกระทำใดๆ ที่เป็นการคุกคามหรือบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนซึ่งนับว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับสิทธิสรีภาพของประชาชน โดยต้องเปิดให้สื่อมวลชนได้รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างอิสระ ไม่ปิดกั้นหรือจำกัดการรายงานสถานการณ์โดยผ่านการใช้กฎหมายหรืออำนาจที่มิชอบธรรม ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการกฎหมาย หรืออำนาจอันมิชอบใดๆ ก็ตาม

 

  1. สื่อมวลชนต้องดำเนินการนำเสนอข้อมูลข่าวสารตามหลักจริยธรรมสื่อ คือการนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือตกอยู่ในอิทธิพล การแทรกแซงใดๆ ทางการเมือง กลุ่มทุน และกลุ่มกดดันทางสังคม ตลอดจนรายงานสถานการณ์อย่างเป็นภววิสัย ให้มีแหล่งข่าวรอบด้าน สมดุล นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและผ่านการตรวจสอบอย่างชัดเจนแล้ว ปราศจากอัตวิสัย รวมไปถึงไม่สอดแทรกความคิดเห็นลงไปในการรายงานข่าว ตลอดจนให้ความสำคัญกับการกำหนดวาระข่าวสาร (Agenda Setting) และกรอบข่าว (News Framing) ที่เป็นไปตามข้อเท็จจริง

 

  1. ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และองค์กรกำกับจริยธรรมสื่อที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแล ส่งเสริม และดำเนินการปฏิรูปสื่อโดยปราศจากการครอบงำ รวมไปถึงตรวจสอบการรายงานข่าวของสื่อมวลชนให้ไม่มีข่าวปลอม (Fake News) หรือประทุษวาจา (Hate Speech) เกิดขึ้นในเนื้อหาของการรายงาน เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น และให้คณะกรรมการ กสทช. แสดงจุดยืนในกรณีที่รัฐมีการใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชนภายใต้พื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย

 

  1. ในกรณีที่สื่อมวลชนไม่สามารถรายงานข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงได้ ไม่ว่าจะเกิดจากการถูกกดดัน แทรกแซง หรือละเลยการปฏิบัติงานตามกรอบจรรยาบรรณก็ตาม ขอให้อาจารย์ นิสิตนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน แสดงพลังแห่งการสื่อสาร ส่งต่อข้อเท็จจริงและข่าวสารที่จำเป็นต่อประชาชนด้วยตนเอง รวมไปถึงเรียกร้องให้รัฐเบิดช่องทางให้สื่อได้ปฏิบัติงานอย่างอิสระ ตามที่ควรจะเป็นในสังคมที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อผดุงซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของอาชีพนักสื่อสารมวลชน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X