วันนี้ (26 กุมภาพันธ์) องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยรายละเอียดว่า ตามคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 0821/2565 เรื่อง ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต
สำนักบริหารกิจการนิสิตระบุว่า สืบเนื่องจากการจัดงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ปีการศึกษา 2564 ที่จัดขึ้นในรูปแบบไลฟ์สด มีนิสิต 2 ราย ที่กระทำผิดวินัยนิสิต ได้แก่ พิชชากร ฤกษ์สมพงษ์ นิสิตปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ ผู้ดำรงตำแหน่งอุปนายกคนที่ 1 และ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิต
โดยบรรยายความผิดของพิชชากรไว้ว่า มีเจตนากระทำกิจกรรม ‘เซอร์ไพรส์’ โดยขัดต่อวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมของสำนักบริหารกิจการนิสิต อันได้แก่ ‘ให้นิสิตใหม่เกิดความประทับใจในมหาวิทยาลัย’ ด้วยการนำเสนอวีดิทัศน์ของวิทยากรรับเชิญ 3 รายคือ ปวิน รุ้ง และเพนกวิน โดย ‘ไม่ได้แจ้งให้สำนักบริหารกิจการนิสิตทราบก่อน’ ซึ่งในกิจกรรม ‘เซอร์ไพรส์’ ดังกล่าว มีข้อความของเพนกวินที่กล่าวเชิญชวนให้นิสิตใหม่ให้ของลับ (แจกค_ย) ทั้งยังมีกิริยาท่าทางและคำพูดที่สำนักบริหารกิจการนิสิตเห็นว่า ‘หยาบคาย’
สำนักบริหารกิจการนิสิตเห็นว่า การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดการแตกความสามัคคี ขัดต่อ ‘วัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทย’ สุดท้าย การจัดกิจกรรมดังกล่าวจึงกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง มีความผิดตามวินัยนิสิต ตามข้อ 6 แห่งระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยนิสิต ปี พ.ศ. 2527 และฐานนำขนบประเพณีหรือวิธีการอันไม่เหมาะสมแก่วัฒนธรรมไทยมาปฏิบัติ ตามข้อ 12 ของระเบียบเดียวกัน
สังเกตได้ว่า ระเบียบดังกล่าวที่ตราขึ้นเมื่อราว ๆ 40 ปีที่แล้วยังคงถูกนำมาบังคับใช้โดยไม่คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของบริบทแห่งสังคมไทยแต่อย่างใด
สำหรับเนติวิทย์นั้น สำนักบริหารกิจการนิสิตบรรยายความผิดไว้ว่า ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลการดำเนินงานขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ และรู้เห็นเป็นใจกับการจัดกิจกรรม ‘เซอร์ไพรส์’ ดังกล่าว โดยเป็นผู้ติดต่อเพนกวินให้เป็นวิทยากรรับเชิญ และเนติวิทย์ได้โพสต์ถึงการมีกิจกรรมเซอร์ไพรส์ดังกล่าวในสื่อมัลติมีเดียของตน นอกจากนั้นยังจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการไม่ตรวจสอบกิจกรรมที่ไม่ได้ระบุไว้ในกำหนดการว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ ‘สำนักบริหารกิจการนิสิต’ หรือไม่ มีความผิดตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยนิสิต ตามข้อ 6 และ 12 เช่นเดียวกัน
สุดท้าย สำนักบริหารกิจการนิสิตตัดคะแนนความประพฤติของทั้งสองคน คนละ 10 คะแนน และในส่วนของเนติวิทย์ จะมีผลให้พ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยทันที
สำหรับ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ถือเป็นบุคคลที่ปรากฏความเคลื่อนไหวผ่านหน้าสื่ออยู่เป็นประจำ เขาเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่ก่อนเป็นนิสิต เป็นผู้ก่อตั้งสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย และกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งทั้งสองกลุ่มมุ่งปฏิรูปการศึกษาไทย การเคลื่อนไหวช่วงแรก ๆ ของเขาเป็นการมุ่งเน้นเรื่องทรงผมนักเรียน ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา รวมถึงวิจารณ์พิธีกรรมหน้าเสาธงในโรงเรียน และการยกเลิกเกณท์ทหาร
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยเสนอ ‘รางวัลสิทธิมนุษยชน’ ประเภทเด็กและเยาวชนจากบทบาทการรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนให้เขา แต่เขาปฏิเสธ
ปี 2561 เนติวิทย์เป็น 1 ใน 50 บุคคลชาวเอเชียที่น่าจับตามองแห่งปี (50 Asians to Watch) สาขาบุคคลสาธารณะผู้เคลื่อนไหวสังคม ประจำปี 2018 โดยสำนักข่าว Straits Times ของสิงคโปร์ และได้รับเชิญให้เป็นปหนึ่งในปาฐกของงาน Oslo Freedom Forum ประจำปี 2018 จากมูลนิธิ Human Rights Foundation ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่พูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน
อ้างอิง: