วันนี้ (17 ตุลาคม) เวลา 09.00 น. คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2566 โดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมด้วย
ที่ประชุม กพอ. ได้พิจารณาร่างแผนดำเนินการในระยะ 1 ปี (เดือนตุลาคม ปี 2566 – เดือนกันยายน ปี 2567) และเป้าหมายเร่งด่วนภายใน 99 วัน ลงมือทำจริง เพื่อดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลกผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 5 คลัสเตอร์หลัก (การแพทย์, ดิจิทัล, ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), BCG และบริการ) ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน เพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติ ทั้งนี้ เป้าหมายเร่งด่วนใน 99 วันของ EEC แบ่งออกเป็น 8 ด้าน ได้แก่
- ด้านนโยบาย เดือนธันวาคม ปี 2566 จัดทำแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2566-2570) ซึ่งจะเป็นกรอบดำเนินงานหลักของ EEC บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ในทุกมิติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยแนวทางพัฒนา 5 ด้าน
- ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
- เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
- ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัย และเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ
- เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน
- ด้านการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน สร้างความพร้อมให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC โดยเดือนธันวาคม ปี 2566 EEC จะออกประกาศ กพอ. เรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดการลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ครอบคลุมด้านภาษีและมิใช่ภาษี เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุน เช่น สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร สิทธิการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด รวมไปถึงการอนุญาตให้อยู่อาศัยในระยะยาว (EEC Long-Term Resident Visa) เป็นกรณีพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และทำงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เช่น ผู้มีความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ผู้ชำนาญการ ตลอดจนคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ
- ด้านการสร้างระบบนิเวศสำหรับการลงทุน เดือนมกราคม ปี 2567 พัฒนาแหล่งระดมทุน EEC (EEC Fundraising Venue) รองรับการระดมทุนที่ใช้เงินตราต่างประเทศเป็นหลัก โดยเริ่มจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้ผู้ระดมทุนทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศที่ใช้เงินตราต่างประเทศมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสให้แก่บริษัทไทยที่ไปจดทะเบียนในต่างประเทศให้มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น และจะเป็นการเพิ่มเครื่องมือทางการเงินที่แตกต่างให้กับผู้ลงทุนในตลาดได้
- ด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะได้ข้อยุติการเจรจาและแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินโครงการระหว่าง รฟท. กับเอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน (บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด) ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ภายในเดือนมกราคม ปี 2567 เอกชนคู่สัญญาจะพร้อมเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการ
- ด้านการจัดให้มีบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร เดือนธันวาคม ปี 2566 จะยกระดับการให้บริการอนุมัติ อนุญาต จำนวน 44 รายการ ครอบคลุม 8 กฎหมาย ตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน, การควบคุมอาคาร, การจดทะเบียนเครื่องจักร, การสาธารณสุข, คนเข้าเมือง, การจดทะเบียนพาณิชย์, โรงงาน และการจัดสรรที่ดิน โดยจะเพิ่มการพัฒนาระบบให้ครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เช่น สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร ซึ่งจะทำให้พื้นที่ EEC เป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก
พร้อมกันนี้ EEC ยังได้บูรณาการร่วมกับภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อเตรียมกำลังคนรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักแต่ละด้านที่จะมาเป็นแต้มต่อ ทำให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบัน EEC ได้เชื่อมความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา ผู้ประกอบการชั้นนำ ผ่านกลไกขับเคลื่อน 12 ศูนย์เชี่ยวชาญพัฒนาบุคลากร เพื่อเป็นฐานเรียนรู้หลัก จัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะใหม่ที่จำเป็นและตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม เช่น ด้านยานยนต์ไฟฟ้า และด้านดิจิทัล
- ด้านการพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เดือนตุลาคม ปี 2566 จัดตั้งศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ มีพื้นที่พัฒนาระยะที่ 1 ประมาณ 5,795 ไร่ จากพื้นที่รวมทั้งโครงการประมาณ 14,619 ไร่ ทั้งนี้ การจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การแพทย์และสุขภาพครบวงจร, การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา, ดิจิทัล, การบินและโลจิสติกส์
การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษนิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท พื้นที่ 22,191.49 ไร่ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ พัฒนาระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่จำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร
เดือนมกราคม ปี 2567 การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ยกระดับบริการสาธารณสุขในพื้นที่อุตสาหกรรมปลวกแดง (EEC Advanced Healthcare) เป็นการลงทุนในโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ให้ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำงานในพื้นที่อำเภอปลวกแดงได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทันการ สะดวก ปลอดภัย และมีคุณภาพ ลดการเดินทางไปรักษาพยาบาลนอกพื้นที่
- ด้านการเริ่มต้นการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เดือนธันวาคม ปี 2566 เกิดการลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล EECd ได้แก่ บริษัท ซีทีอาร์แอลเอส ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (CtrlS Datacenter) ผู้ประกอบการชั้นนำระดับโลกจากประเทศอินเดีย เช่าพื้นที่ 25 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี เพื่อลงทุนศูนย์ธุรกิจข้อมูล (Data Center) มูลค่าโครงการรวมกว่า 4,500 ล้านบาท รวมทั้งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรมเกี่ยวกับ Cloud Service, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เช่าพื้นที่ 5 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี ลงทุนประกอบกิจการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ให้บริการรองรับรถขนส่งขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมระบบโลจิสติกส์การขนส่งในพื้นที่ EEC และบริษัท ALBA Group Asia Limited จากประเทศเยอรมนี มีความประสงค์จะเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการต้นแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม และศูนย์ควบคุมการรีไซเคิลซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการลงทุนโครงการกว่า 1,300 ล้านบาท
- ด้านการสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่และชุมชน เดือนธันวาคม ปี 2566 ต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกิจการเพื่อสังคมในพื้นที่ EEC ให้ได้รับการรับรองเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ (EEC Select) สนับสนุนการสร้างแนวคิดเชิงธุรกิจอย่างเป็นระบบ และได้รับการส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น
เดือนมกราคม ปี 2567 จัดตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรี EEC ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อเป็นศูนย์การสร้างความเข้าใจและประโยชน์ EEC รวมไปถึงการขยายผลโครงการ อีอีซี สแควร์ สร้างโอกาสให้เยาวชนได้ต่อยอดแนวคิด คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถใช้ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพอ. ได้พิจารณาการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) โดยเห็นชอบกรอบอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมอื่นใด และกรอบสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในโครงการ EECd พร้อมแผนปฏิบัติการและแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ เพื่อการขับเคลื่อนรองรับนักลงทุนระดับนานาชาติที่แสดงความจำนงเข้าลงทุนในพื้นที่โครงการ EECd แล้ว
เช่น บริษัท CtrlS Datacenter สร้างธุรกิจ Data Center มีมูลค่าการลงทุนโครงการรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยมีแผนการเซ็นสัญญาเช่ากับ สกพอ. ภายในเดือนตุลาคม ปี 2566 เพื่อเช่าพื้นที่จำนวน 25 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี สร้างรายได้แก่ สกพอ. มูลค่าทั้งหมดประมาณ 1.31 พันล้านบาท, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดตั้งศูนย์อัดประจุไฟฟ้าต้นแบบระดับประเทศ (EV Charging Station) โดยมีแผนการลงนามความร่วมมือภายในปี 2566 เพื่อเช่าพื้นที่จำนวน 5 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี สร้างรายได้แก่ สกพอ. มูลค่าทั้งหมดประมาณ 60 ล้านบาทตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน และบริษัท ALBA Group Asia Limited บริษัทชั้นนำด้าน Smart City Digital Waste and Recycling Management จากประเทศเยอรมนี ปัจจุบันบริษัทได้มีการส่งหนังสือแสดงเจตจำนงความต้องการลงทุน (Letter of Intent) ในพื้นที่โครงการ EECd วันที่ 24 เมษายน 2566 และมีแผนการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการสร้างศูนย์ควบคุมและสั่งการด้าน Digital Waste Management ต้นแบบ มูลค่าการลงทุนทั้งหมดประมาณ 1.4 พันล้านบาท ในช่วงปี 2567