×

คริปโตมายด์เปิด 3 ความเสี่ยงขัดขานโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ระบุชัด ความโปร่งใสเป็นสิ่งที่น่ากังวล

25.08.2023
  • LOADING...

หลังจากที่ไทยได้นายกรัฐมนตรีและแกนนำรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางพรรคได้ชูนโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนที่ประกาศจะทำทันทีหลังจัดตั้งรัฐบาล หนึ่งในนโยบายที่ถูกพูดถึงอย่างมากก็คงหนีไม่พ้น เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่จะทำงานบนระบบบล็อกเชน ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากบนโลกโซเชียลมีเดีย

 

บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด (Cryptomind Advisory) ผู้ประกอบธุรกิจที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ได้มาลำดับเหตุการณ์นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยว่าความเสี่ยงจะมีอะไรบ้าง ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งด้านบวกและลบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงข้อจำกัดที่อาจเกิดขึ้นในเชิงกฎหมายและเทคโนโลยีบล็อกเชน 

 

ข้อดีของเงินดิจิทัล 10,000 บาท

 

พรรคเพื่อไทยยืนยันว่านโยบายเงินกระเป๋าเงินดิจิทัลจะต่างจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในอดีตอย่าง เช็คช่วยชาติ, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ชิมช้อปใช้ เพราะแม้นโยบายนี้จะจบไป แต่โครงสร้างบล็อกเชนที่ได้สร้างขึ้นมาจะเป็นรากฐานให้กับระบบการชำระเงินในอนาคต เช่น Retail Central Bank Digital Currency (Retail CBDC) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังทำ Pilot test ในวงแคบไม่เกิน 10,000 คน ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ซึ่งจะสิ้นสุดในไตรมาส 3 ปีนี้

 

ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงมองเห็นถึงความเหมาะสมที่จะใช้บล็อกเชนเป็นฐานการเก็บข้อมูลมากกว่าการใช้ระบบ Database แบบทั่วไปที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในอดีตได้เลือกใช้

 

3 ความเสี่ยงที่อาจขัดขานโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

 

นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังคงมีเรื่องที่ต้องกังวล โดยทาง Cryptomind Advisory ได้รวบรวมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หากเริ่มนโยบายเงินดิจิทัล ดังนี้

 

  1. ความเสี่ยงในการเกิดเงินเฟ้อ: การที่มีปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นในทันทีจะทำให้มีแรงซื้อเข้ามาจำนวนมาก จนอาจเกิดการดันราคาสินค้าและบริการให้เพิ่มขึ้น ทำให้เงินที่มีอยู่มีอำนาจในการซื้อลดลง (Purchasing Power) หากรัฐบาลไม่สามารถคุมราคาสินค้าในตลาดได้ คนที่ได้เงินเดือนเท่าเดิมจะได้รับผลกระทบ ซึ่งมีโอกาสกดดันมาที่บริษัทที่ต้องขึ้นเงินเดือนพนักงานต่อ หรือธนาคารกลางที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจ เหตุการณ์เหล่านี้อาจส่งผลต่อเนื่องเป็นวงกว้างจนเกิดปัญหาได้

 

  1. ความไม่ชัดเจนในด้านกฎหมาย: พรรคเพื่อไทยกล่าวว่าเงินดิจิทัลนี้ไม่ใช่ CBDC หรือเงินบาทหรือเงินธนาคารที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน แต่จะมีความคล้ายกับ Fiat-backed Stablecoin ที่มีเงินบาทหนุนด้านหลังในอัตรา 1:1 คล้ายกับ USDT หรือ USDC ที่หนุนด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐในจำนวนที่เท่ากัน ดังนั้นเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยที่ใช้บล็อกเชนจึงมีความใกล้เคียงกับ Utility Token หรือ E-Money 

 

แต่ก็มีรายละเอียดที่ยังขัดแย้งด้านกฎหมาย ดังนั้นเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจเทียบใกล้เคียงกับ Utility Token แบบพร้อมใช้กลุ่มที่ 1 ตาม พระราชกำหนดสินทรัพย์ดิจิทัลฯ พ.ศ. 2561 เพราะ ‘ให้สิทธิแก่ผู้ถือเหรียญในการได้มาซึ่งบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง’ ยกตัวอย่าง JFIN ของบริษัท Jaymart ที่นำไปแลกบริการต่างๆ เช่น เครื่องดื่มเต่าบิน หรือ Rabbit Rewards ของ BTS หรือ BNK Governance Token ของศิลปิน BNK48 ที่ใช้โหวตทิศทางของวง หรือใช้แลกรับของรางวัลพิเศษของวง เป็นต้น

 

โดย Utility Token มีกฎสำคัญคือ จะต้อง ‘ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสื่อการชำระเงิน หรือโอนมูลค่าเพื่อชำระราคาสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดเป็นการทั่วไป (Means of Payment)’ และมีข้อบังคับของพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ที่มีเพียงธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอำนาจในการออกเงินตรา โดยแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะอนุญาตให้เอกชนรายใดรายหนึ่งออกเงินตรา ก็ไม่สามารถทำได้

 

‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท จึงไม่เข้าข่ายเป็น Utility Token’

 

ในอีกกรณี เงินดิจิทัล 10,000 บาทจะเทียบเคียงกับ E-mMoney หรือเงินที่บันทึกในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ยกตัวอย่างเช่น บัตรโดยสารรถไฟฟ้า บัตรศูนย์อาหาร บัตรเติมเงินมือถือ กระเป๋าเงินบนมือถือสำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์​ ซึ่งในรายละเอียดนั้น E-Money จะต้อง ‘เติมเงินจริง’ เข้าไปในระบบเพื่อใช้งาน ส่วนเทคโนโลยีเบื้องหลังนั้นไม่มีการบังคับว่าต้องใช้หรือไม่ใช้บล็อกเชน

 

สำหรับเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้นมีความใกล้เคียง ‘E-Money ประเภทบัญชี’ ที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนให้บริการ ซึ่งน่าจะไม่มีปัญหาด้านนี้ แต่สิ่งที่คิดคือการ ‘เติมเงิน’ เข้าไปล่วงหน้าในระบบจะทำได้หรือไม่สำหรับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะงบประมาณ 5.6 แสนล้านบาทมาจากการตั้งสำรองงบประมาณที่คาดว่าจะได้มาจากภาษีที่จะเก็บได้ในปี 2567 หรือภาษีในตอนสิ้นสุดโครงการ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถเติมเงินไปล่วงหน้าก่อนได้ (ต้องรอรายละเอียดฉบับเต็มจากพรรคเพื่อไทย)

 

‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท จึงอาจไม่เข้าข่ายเป็น E-Money เช่นเดียวกัน’

 

อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ 19 กรกฎาคม ได้กล่าวว่า “มุมมอง ธปท. ที่มีต่อแนวทางนโยบายไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งหากมีนโยบายกระตุ้นใช้จ่าย ต้องพยายามชี้แจงและดูรูปแบบว่าเป็นอย่างไร ยืนยันว่าไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะทำไม่ได้” และรายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ระบุว่า “ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดของนโยบาย คงต้องขอดูความชัดเจนก่อน”

 

  1. ปัญหาในมุมเทคโนโลยีของบล็อกเชน: จากคำให้สัมภาษณ์ของ เผ่าภูมิ โรจนสกุล ที่ชูข้อดีของบล็อกเชนในเรื่องความโปร่งใส ความปลอดภัย การโกงยาก และความสามารถในการเขียนโปรแกรมลงบนเงินดิจิทัลได้ ทาง Cryptomind Advisory มองว่าบล็อกเชนที่ทางพรรคเพื่อไทยจะนำมาใช้นั้น ‘อาจไม่ตอบโจทย์’ ในหลายๆ เรื่อง ด้วยเหตุผลดังนี้

 

  • เหตุผลที่ 1: จำนวนธุรกรรมที่ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดม เจริญยศ ผู้ก่อตั้ง Tokenine กล่าวว่า “บล็อกเชนในปัจจุบันรองรับจำนวนธุรกรรมได้อย่างมากเพียง 1,000 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่านั้น ในขณะที่พร้อมเพย์รองรับ 5,000 ธุรกรรมต่อวินาที และแอปพลิเคชันเป๋าตังรองรับได้ 8,000 ธุรกรรมต่อวินาที จากที่เห็นว่าในช่วงที่มีการใช้งานสูง ระบบธนาคารในปัจจุบันยังมีปัญหา การใช้บล็อกเชนที่รับธุรกรรมได้น้อยกว่าหลายเท่าจึงมีปัญหาคอขวดอย่างแน่นอน”
  • เหตุผลที่ 2: บล็อกเชนของรัฐจะเป็นประเภทที่มีผู้บันทึกและตรวจสอบธุรกรรมมีจำนวนน้อย เพราะอำนาจในการบันทึกธุรกรรมของประชาชนทั้งประเทศควรถูกดูแลโดยรัฐเท่านั้น ดังนั้นการกระจายตัวของ Backup ที่อยู่ตาม Node ต่างๆ จึงมีไม่มากพอที่จะเรียกว่ากระจายศูนย์ (Decentralization) เท่ากับ Bitcoin ที่มีหลายหมื่น Node ทั่วโลก
  • เหตุผลที่ 3: ความโปร่งใสและความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องที่อยู่ขั้วตรงข้ามกัน หากบล็อกเชนของพรรคเพื่อไทยเป็นแบบ Public Blockchain ที่ทุกคนสามารถเห็นทุกธุรกรรมที่เกิดบนบล็อกเชนได้ นั่นแปลว่าแม้เลขบัญชีจะไม่ได้ระบุชื่อเจ้าของ แต่ก็สามารถสังเกตพฤติกรรมจนรู้ได้ว่าใครเป็นเจ้าของ และสามารถรู้ได้ว่าใครมีเงินอยู่ในบัญชีเท่าไร ใช้จ่ายอะไรไปบ้างเมื่อเวลากี่โมง เป็นต้น ทำให้ความเป็นส่วนตัวของทุกคนได้หมดลงไป

 

ซึ่งถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการเช่นนั้นก็จะเป็นแบบ Private Blockchain ที่รัฐเป็นผู้รู้การเคลื่อนไหวทุกธุรกรรมเพียงผู้เดียว ซึ่งจะกลายเป็นระบบที่ไม่ต่างอะไรกับระบบ Database ทั่วไป เพราะ Private Blockchain ที่มีจำนวน Node ดูแลโดยรัฐทั้งหมดสามารถแก้ไขธุรกรรมย้อนหลัง เทคโนโลยีนี้จึงไม่มีจุดเด่นเรื่องความโปร่งใสอย่างที่พรรคต้องการ

 

ซึ่งเมื่อลองวิเคราะห์ข้อดีอื่นๆ เช่น การเขียนโปรแกรมลงบนเงิน การตรวจสอบการโกง หรือการเก็บข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์ต่อ “ระบบ Database ที่ใช้ทั่วไปก็สามารถทำได้แล้ว และมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามากอีกด้วย” นอกเสียจากว่าต้องการใช้ระบบโครงสร้างบล็อกเชนนี้กับนโยบายอื่นในอนาคต ดังนั้นการใช้บล็อกเชนในนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริงมากเท่าไร หรืออาจเป็นการลงทุนสูงที่มองในระยะยาว เช่น การใช้เป็น Pilot test ในโครงการ CBDC ที่มีวงผู้ใช้งานที่ใหญ่ขึ้นก็เป็นได้

 

นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยเป็นโครงที่มีความตั้งใจจะกระตุ้นการลงทุนให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่ได้กระจุกอยู่ในหัวเมืองต่างๆ อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้อาจมีความท้าทายที่ต้องแก้ไขในเรื่องเงินเฟ้อ กฎหมาย และเทคโนโลยีที่ใช้ ซึ่งในขณะนี้เรายังไม่ทราบรายละเอียดฉบับเต็มจากพรรคเพื่อไทยว่าการใช้จริงจะเป็นอย่างไร 

 

ดังนั้นในตอนนี้ “ห้ามดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ชื่อ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ทั้งสิ้น” เพราะมีโอกาสโดนมิจฉาชีพดูดเงินจากมือถือได้ และต้องรอแถลงการณ์จากทางพรรคเพื่อไทยโดยตรงเท่านั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X