×

กูรูคริปโตฯ สาย Yield Farming แนะ ‘ทริก 5 ข้อ’ เลือกแพลตฟอร์มทำฟาร์ม ป้องกันเว็บหอบเงินหนี

24.05.2021
  • LOADING...
กูรูคริปโตฯ สาย Yield Farming แนะ ‘ทริก 5 ข้อ’ เลือกแพลตฟอร์มทำฟาร์ม ป้องกันเว็บหอบเงินหนี

นักลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีสาย Yield Farming หรือที่ในวงการคริปโตฯ เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘สายฟาร์ม’ อาจเสียขวัญกันไปบ้าง หลังจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวร้ายเข้ามาซ้อนกันถึง 2 ข่าว คือข่าวที่เหรียญ Bunny ถูกกระทำ Economic Attack ที่เรียกว่า Flash Loan ซึ่งก็คือการกู้ยืมโดยที่ไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันบนโลกของคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งปกติแล้วจะไม่อนุญาตให้ทำได้ 

 

แต่กรณีนี้แพลตฟอร์มของ Bunny อนุญาตให้ทำได้ผ่านแพลตฟอร์ม PancakeSwap เนื่องจากเป็นการกู้ยืมและคืนสินทรัพย์ทั้งหมดภายใน 1 ทรานแซ็กชัน จนทำให้ราคาเหรียญ Bunny ร่วงลงอย่างรุนแรงจากระดับ 150 ดอลลาร์ต่อ Bunny มาต่ำกว่าระดับ 1 ดอลลาร์ต่อ Bunny หรือร่วงลงมาราวๆ 67% ภายในเวลาไม่กี่วินาที 

 

ส่วนอีกข่าวที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการปิดตัวพร้อมกับหอบเงินหนีไปกว่า 32 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 1,000 ล้านบาท ของแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า DeFi100 ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ไม่เพียงแค่ปิดตัวหนีไปเท่านั้น แต่ยังได้โพสต์ข้อความเชิงเยาะเย้ยว่า “We scammed you guys, and you can’t do shit about it” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “พวกคุณโดนฉันหลอกแล้ว และก็คงไม่สามารถทำอะไรได้”

 

แน่นอนว่าทั้งสองข่าวที่ว่านี้อาจทำให้นักลงทุนมือใหม่ในตลาดคริปโตฯ โดยเฉพาะสายฟาร์มอาจจะสูญเสียความเชื่อมั่นไปบ้าง แต่สำหรับคนที่อยู่ในวงการนี้มานานย้ำว่าการลงทุนในลักษณะ Yield Farming อาจมีความเสี่ยงบ้าง แต่หากมีเทคนิคการเลือกทำฟาร์มแล้วจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้อย่างมาก

 

คิม-กานต์นิธิ ทองธนากุล เจ้าของเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict ได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ถึงข้อสังเกต 5 ข้อที่นักลงทุนคริปโตฯ สายฟาร์มควรหยิบมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

 

  1. การจะเลือกทำ Yield Farming ในแพลตฟอร์มใดควรดูที่ TVL (Total Value Locked) หรือจำนวนเงินที่ฝากในระบบ ซึ่งในที่นี้ควรต้องมีไม่ต่ำกว่า 100-1,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป เพราะเงินยิ่งมากยิ่งหมายความว่าจะมีผู้ลงทุนคนอื่นๆ อีกหลายคนช่วยกันตรวจสอบแพลตฟอร์มนี้ อีกทั้งปริมาณเงินฝากที่มากยังสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่งด้วย เพราะชี้ให้เห็นว่าคนมั่นใจจึงกล้านำเงินมาฝาก

 

  1. ดูทีมพัฒนาแพลตฟอร์มนั้นๆ ด้วยว่ามีชื่อเสียงและมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่าในโลกของ DeFi ส่วนใหญ่มักจะไม่เปิดเผยตัวตน โดยมักจะอ้างเหตุผลว่า ขนาดผู้ที่สร้าง Bitcoin ขึ้นมายังไม่เคยเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงเลย

 

  1. ตรวจสอบพาร์ตเนอร์หรือกลุ่มผู้ลงทุนในโปรเจกต์นั้นๆ เช่น แพลตฟอร์มที่คนนิยมฟาร์มกันอย่าง PancakeSwap มีผู้สนับสนุนคือ Binance หรือ Uniswap ก็มีผู้ให้การสนับสนุนคือ Coinbase ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ 

 

“อย่าง Uniswap ตัวเจ้าของแพลตฟอร์มเป็นที่รู้จักกันดีในวงการและมีชื่อเสียงที่ดีมาก ส่วน PancakeSwap ก็มีเหรียญเทรดอยู่ใน Binance ซึ่งทาง Binance การจะเอาเหรียญใดๆ มาเทรดในกระดานของเขาจะมีระบบตรวจสอบที่เข้มข้นอยู่แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เขาเสียชื่อเสียง”

 

  1. ระยะเวลาการเปิดให้บริการของแพลตฟอร์มนั้นๆ ยิ่งถ้าเปิดมานานและไม่เคยมีประวัติถูกแฮ็กยิ่งดี เพราะสะท้อนถึงระบบที่มีความน่าเชื่อถือปลอดภัย เช่น Uniswap ตั้งแต่เปิดมายังไม่เคยมีข่าวถูกแฮ็กเลย และตอนนี้ก็มีเงินฝากอยู่ราวๆ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ 

 

  1. เรื่อง Audit Company ที่เข้ามาตรวจสอบแพลตฟอร์มของ DeFi ต่างๆ เพราะในโลกของ DeFi เชื่อว่าผู้ลงทุน 99% ไม่มีใครที่อ่านโค้ดของ Smart Contract เป็น ทำให้มีบริษัทที่รับตรวจสอบขึ้นมา ดังนั้นหากมี Audit Company เหล่านี้เข้าตรวจสอบก็จะเพิ่มความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง

 

“ถ้าหยิบทั้ง 5 ข้อนี้มาสวมทับแพลตฟอร์ม DeFi100 จะเห็นว่าสอบตกตั้งแต่ข้อแรกเลย เพราะ TVL เขามีแค่ราวๆ 30 ล้านดอลลาร์ ทีมงานก็ไม่มีตัวตน ไม่มี Audit ไหนเข้าไปตรวจสอบหรือออกใบรับรอง ที่สำคัญแพลตฟอร์มนี้ยังเปิดตัวได้เพียง 1 เดือนกว่าๆ เท่านั้น จะเห็นว่าหลุดเกือบทุกข้อเลย”

 

นอกจากนี้ คิมยังกล่าวถึงการลงทุนในตลาดคริปโตฯ ผ่านการฟาร์มด้วยว่า ราคาเหรียญหลายๆ เหรียญอาจมีความผันผวนและส่งผลต่อผลตอบแทนจากการฟาร์มบ้าง แต่อยากให้ผู้ลงทุนมองถึง Core Products ไม่ว่าจะเป็น Decentralized Exchange หรือแพลตฟอร์มการกู้ยืมในลักษณะ P2P ต่างๆ พวกนี้จะมีผลตอบแทน (Yield) ที่เกิดจาก Real Business จ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้นำเงินมาฝาก

 

“ยกตัวอย่าง เช่น Uniswap เวลาที่เราฝากเหรียญเข้าไป ทางแพลตฟอร์มก็จะเอาเหรียญเหล่านี้ไปใช้เป็นสภาพคล่องในระบบ และเมื่อมีคนมาเทรดผู้เทรดจะต้องจ่ายค่าฟี ทางแพลตฟอร์มก็จะเอาค่าฟีที่ได้มาจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ฝากเหรียญ หรือที่เรียกกันว่าฟาร์ม ซึ่งผลตอบแทนถ้าเป็นเหรียญ Stablecoin ก็จะอยู่ราวๆ 5-10% ต่อปี”

 

คิมบอกว่าผลตอบแทนต่างๆ จากการฟาร์มขึ้นกับเหรียญที่เอาไปฝาก อย่างบางคนบอกว่าได้ผลตอบแทน 100-300% ถามว่ามาจากไหน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้จากแพลตฟอร์มที่ใช้บริการ เขาทำเหรียญ Governance Token หรือเหรียญที่แพลตฟอร์มตัวเองทำขึ้นมาแจกให้กับลูกค้า ถือเป็นโบนัสเพิ่มเติม จึงทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น แน่นอนว่าถ้าราคาเหรียญเหล่านี้ลดลงผู้ถือเหรียญดังกล่าวก็จะได้ผลตอบแทนที่ลดลงด้วย จึงอยากให้โฟกัสที่ Core Products มากกว่า เพราะไม่ว่าตลาดจะเหวี่ยงขึ้นหรือลง สุดท้ายผู้ลงทุนจะยังได้ผลตอบแทนจากตัว Core Products ซึ่งก็คือเงินปันผลจากการเอาเหรียญไปฝาก 

 

นอกจากนี้คิมยังบอกด้วยว่า การปรับฐานของตลาดในรอบนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะถือเป็นการคัดแพลตฟอร์มที่มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากก่อนหน้านี้ในช่วงที่ DeFi เริ่มบูม ก็จะมีแพลตฟอร์มต่างๆ ออกมาจำนวนมาก ซึ่งสุดท้ายแล้วเชื่อว่าจะเหลือรอดไม่กี่แพลตฟอร์ม 

 

“จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมก็พยายามบอกคนใกล้ตัวว่าให้ทยอยขายเหรียญต่างๆ หันมาถือ Stablecoin เพื่อมาทำฟาร์ม เพราะช่วงที่ตลาดขึ้นไปแรงเหมือนเป็นกับดักอย่างหนึ่งที่คนไม่รู้ตัว โดยคนจะคิดกันว่าเหรียญพวกนี้ขึ้นไปแล้วไม่มีวันลง แต่จริงๆ แล้วไม่มีตลาดไหนที่ราคาจะขึ้นโดยไม่ลง การปรับฐานรอบนี้จึงเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งผมมองว่าเป็นการปรับเพื่อจะไปได้ต่อในอนาคต”

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X