×

กูรูมอง รัฐรีดภาษีคริปโตไม่กระทบการเทรดของคนไทย ชี้การคำนวณภาษียังทำได้ยากในทางปฏิบัติ แนะรัฐปรับรูปแบบให้ชัดเจน เข้าใจง่าย

04.01.2022
  • LOADING...
ภาษีคริปโต

กานต์นิธิ ทองธนากุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน Merkle Capital และผู้ก่อตั้งเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict Thailand ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ถึงกรณีที่กรมสรรพากรออกมากำชับให้ผู้ที่มีกำไรจากการเทรดคริปโตจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไร (Capital Gain) และต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี พร้อมระบุว่า ทางกรมมีระบบ Data Analytics ที่สามารถตรวจสอบได้กรณีที่มีการหลบเลี่ยงว่า โดยส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในคริปโตของคนไทย เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาการลงทุนในคริปโตอาจยังไม่แพร่หลายนักในเมืองไทย จึงทำให้กฎหมายตัวนี้ไม่ได้รับความสนใจมากนัก

 

“ผมคิดว่าประเด็นที่ทำให้คนกลับมาสนใจกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลตัวนี้อีกครั้งเป็นเพราะในปี 2564 คนไทยเริ่มเข้ามาลงทุนในคริปโตมากขึ้น พอรู้ว่าอาจต้องเสียภาษีก็เลยเกิดความกังวล ไม่อยากต้องจ่าย โดยส่วนตัวผมรายงานทุกปี กรอกในช่องที่ให้กรอกก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพราะมองว่าเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว” กานต์นิธิกล่าว

 

อย่างไรก็ดี กานต์นิธิยอมรับว่า การเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% จากการเทรดคริปโตในทางปฏิบัติยังทำได้ยาก โดยปกติ Exchange ต้องมีหน้าที่ช่วยคำนวณให้กับลูกค้า แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่มีเจ้าใดที่ทำได้ เพราะการคำนวณต้นทุน กำไร ไม่สามารถคำนวณได้แบบทันทีทันใด แต่ต้องเช็กข้อมูลย้อนหลังต่อเนื่องกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่กฎหมายระบุเอาไว้เช่นนี้ก็เปรียบเหมือนเป็นการผลักภาระไปให้ลูกค้าเป็นคนทำเอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว จึงอาจต้องติดตามดูว่ากรมสรรพากรจะมีวิธีการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างไร

 

ด้าน เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งซิปเม็กซ์ (Zipmex) ประเทศไทย กล่าวว่า การเก็บภาษีคริปโตไม่ใช่เรื่องใหม่และมีหลายประเทศที่ทำอยู่ แต่การที่ไทยกำหนดให้ผู้ที่เทรดคริปโตจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไร และต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี รวมถึงผู้ขายสินค้าและบริการต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยในกรณีที่ใช้คริปโตในการชำระ สะท้อนว่าภาครัฐมองคริปโตเป็นทั้งสินค้าและสินทรัพย์ ซึ่งอาจจะต่างจากคนอื่น

 

“ผมเข้าใจว่าการที่กฎหมายเรากำหนดให้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย เพราะภาครัฐอาจไม่ต้องการให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้จ่ายหรือเอามาลงทุนเก็งกำไรกันเยอะ เพราะแบงก์ชาติก็ได้ออกมาระบุชัดว่าไม่สนับสนุนให้ใช้คริปโตชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ถือเป็นผลกระทบเชิงลบต่อการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เพราะคงไม่มีใครอยากใช้คริปโตชำระสินค้าถ้าต้องเสียภาษี ต้องมีภาระรายงานการหักภาษี” เอกลาภกล่าว

 

เอกลาภระบุว่า โดยส่วนตัวมองว่าการเก็บภาษีคริปโตและการที่กฎหมายระบุให้มีหน้าที่ต้องรายงานภาษีถือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะบางครั้งการเก็บภาษีก็ช่วยพัฒนาวงการได้ แต่ประเด็นที่อยากให้มีความชัดเจนมากขึ้นจากปัจจุบันคือ เวลารายงานจะมีวิธีคำนวณอย่างไร เพราะยังไม่มีความชัดเจน และการออกมาอธิบายจากหน่วยงานรัฐ เช่น กรณีถ้าซื้อ Stable Coin มาแล้วราคาขึ้นตามเงินดอลลาร์ จะถือเป็นกำไรหรือไม่ หรือกรณีถ้าถือข้ามปีจะคิดเป็นกำไรหรือไม่ ถ้าขายแล้วนำเงินไปลงทุนต่อแล้วขาดทุนจะคำนวณอย่างไร

 

“วิธีการและการคำนวณภาษีควรจะมีความกระชับ ชัดเจน และเข้าใจง่าย หลายคนที่ผมรู้จักอยากเสียภาษี แต่ไม่รู้ว่าจะคำนวณอย่างไร ในฐานะผู้ให้บริการ Exchange ตลอดปีที่ผ่านมา Zipmex ก็มีความพยายามพัฒนาระบบที่จะช่วยคำนวณกำไรขาดทุน แต่ต้องบอกเลยว่าเป็นเรื่องที่ยากมากๆ กรณีที่กรมสรรพากรบอกว่ามีระบบ Data Analytics ที่สามารถตรวจสอบได้ ถ้ามีอัลกอริทึมที่ล้ำสมัยได้ขนาดนี้จริง ก็จะดีต่อวงการมาก” เอกลาภกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising