×

‘โอกาส’ และ ‘ความเสี่ยง’ ตลาดสกุลเงินดิจิทัลอยู่ตรงไหน มาลองวิเคราะห์เหรียญคริปโตฯ ผ่านการมองอย่างเป็นระบบ

17.08.2021
  • LOADING...
Cryptocurrency market

ตลาดสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ (Cryptocurrency) ได้รับความสนใจ และมีความหลากหลายมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเวลาผ่านไปและตลาดเติบโตขึ้น การมองตลาดสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ อย่างเป็นระบบมากกว่าที่จะมองเฉพาะความเคลื่อนไหวรายเหรียญจะช่วยให้นักลงทุนและผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ตลาด พิจารณาได้ว่าคุณสมบัติของเหรียญ/สกุลเงินใด หรือ Blockchain เครือข่ายใดที่ควรให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ตลาดสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ ขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ผู้เขียนนิรนาม Satoshi Nakamoto ได้เผยแพร่ Whitepaper ของ Bitcoin เมื่อปี 2008


โดยสินทรัพย์หรือสกุลเงินที่โดดเด่นในตลาดสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ ในระยะหลัง แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับความทะเยอทะยานดั้งเดิมของการถือกำเนิด Bitcoin ในฐานะระบบเงินสดอิเล็กทรอนิกส์แบบ Peer-to-peer หรือบทบาทในฐานะสินทรัพย์สำหรับการ ‘เก็บมูลค่า’ ที่คล้ายกับทองคำเลย


แม้ว่าสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ ทั้งหมดจะมีคุณสมบัติทั่วไปหลายอย่างคล้ายกัน อาทิ เครือข่ายแบบกระจายศูนย์ที่ได้รับการรักษาความปลอดภัยผ่านการเข้ารหัส แต่โครงสร้างของสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ แต่ละชนิด รวมถึงกรณีการใช้งานจริง (Use Case) กลับมีความหลากหลายและแตกต่างกันมากขึ้น ดังนั้น การเข้าใจตลาดสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ อย่างเป็นระบบ จะช่วยทำให้นักลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดในเชิงลึกได้มากขึ้น รวมถึงสามารถพิจารณาได้ว่าคุณสมบัติของเครือข่ายแบบใดที่จะมีศักยภาพพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต


แม้ตลาดสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ จะเติบโตขึ้นอย่างมากจากอดีต แต่เหรียญที่ใหญ่ที่สุดสองเหรียญยังเป็นเหรียญเดิม (คิดจากมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาด) ได้แก่ Bitcoin และ Ethereum จากข้อมูลของ CoinMarketCap ปัจจุบันมีสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ เกือบ 6,000 เหรียญในตลาด โดยมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1.87 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบัน Bitcoin มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนราว 46% ของตลาดสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ ทั้งหมด ซึ่งนักลงทุนทราบดีว่าแนวโน้มราคาเหรียญ Bitcoin มักชี้นำราคาเหรียญอื่นๆ ในตลาดด้วย (หาก Bitcoin ราคาขึ้น เหรียญอื่นก็มักขึ้นตาม)


ในขณะที่ Ethereum คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ทั้งนี้ ในส่วนของสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญอื่นๆ ยังมีสัดส่วนที่ห่างจากสองเหรียญแรกอย่างชัดเจน แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่องในอนาคต เช่น Tether, Binance Coin, Cardano, XRP ฯลฯ ที่มีเครือข่าย Blockchain ที่โดดเด่น และ Use Case ที่กำลังถูกพัฒนาและได้รับความสนใจอย่างมาก

 

Cryptocurrency market

อ้างอิง: Goldman Sachs, CoinMarketCap (Data as of 16 August 2021)

 

สินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตสามารถจัดหมวดหมู่ได้หลายรูปแบบ แต่การจัดหมวดหมู่ตามวัตถุประสงค์ในการใช้งานหรือรูปแบบ Smart Contract เป็นวิธีที่ทำให้สามารถเห็นภาพได้ง่ายขึ้น จากข้อมูลของ Coin Metrics และ CoinMarketCap เราสามารถแบ่งประเภทเหรียญคริปโตฯ ตามการใช้งานออกเป็น 5 ประเภทง่ายๆ ได้แก่ 

1. เหรียญที่มีลักษณะคล้ายสกุลเงิน (Currency) ได้แก่ Bitcoin และ Fork (การสร้างเหรียญหรือเครือข่าย Blockchain ใหม่จากกฎเกณฑ์และการตั้งค่าต่างๆ จากเครือข่าย Blockchain เดิม) เช่น Litecoin และ Bitcoin Cash ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันเหรียญประเภทนี้มีมูลค่าตามราคาตลาดรวมกันสูงที่สุดในตลาดสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ

2. เหรียญที่มีลักษณะเป็น Platform ซึ่งรวมถึง Ethereum และเครือข่ายอื่นๆ ที่ออกแบบมาเพื่อโฮสต์หรือรองรับแอปพลิเคชันแบบ Decentralized Application

3. เหรียญที่เน้นการโอนเงิน (Remittance) เช่น XRP ซึ่งเป็นสื่อกลางในการทำ Settlement ระหว่างธนาคาร

4. เหรียญที่เกี่ยวข้องกับ Decentralized Finance (DeFi) เช่น เหรียญ UNI ของ Uniswap ซึ่งเป็นระบบซื้อขายแลกเปลี่ยน (Exchange) ประเภทหนึ่งที่แตกต่างไปจากระบบแบบเดิม ถูกสร้างขึ้นบน Ethereum Blockchain และใช้ Smart Contract โดยการแลกเปลี่ยนเหรียญจะเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลาง

5. เหรียญ Stablecoins (ราคาค่อนข้างคงที่ ถูกตรึงมูลค่ากับสกุลเงิน Fiat เช่น USD) อย่าง Tether และ USDC


สำหรับผู้ที่พึ่งเริ่มเข้ามาศึกษาโลกของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ  เหรียญทั้ง 5 ประเภทนี้ นักลงทุนควรพิจารณาและแยกความแตกต่างให้แตกฉานเพื่อให้ทราบถึงโอกาสและความเสี่ยงจากเหรียญคริปโตฯ แต่ละประเภท

ในภาพรวม เช่นเดียวกับสินทรัพย์เสี่ยงประเภทอื่นๆ สกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ ส่วนใหญ่มีการเคลื่อนไหวของราคาไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน หากพิจารณาข้อมูลตั้งแต่สิ้นปี 2019 จนถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2021 เป็นที่น่าสนใจว่า ตลาดสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ สามารถให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นมากเฉลี่ยราว 700% (วัดจาก Benchmark Index เช่น BGCI Index, CMBI10 Index, CMC200 Index)

โดย Bitcoin ซึ่งเป็นเหรียญยอดนิยมนั้นกลับให้ผลตอบแทนต่ำกว่า Benchmark Index หรือเพิ่มขึ้นราว 500% ในช่วงเวลาดังกล่าว ในขณะที่ Ethereum ให้ผลตอบแทนเหนือกว่าคาด โดยราคาปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2,000% และหากพิจารณาตามหมวดหมู่การใช้งานจากข้อมูลของ Coin Metrics สกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ ประเภท Exchange, Currency, DeFi มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าโดยเฉลี่ย รวมถึงเหรียญที่มีเครือข่ายที่มีกลไกฉันทามติ (Consensus Mechanism) ตาม Proof of Stake (PoS) เช่น Pokadot, Cardano ฯลฯ มักจะมีการปรับเพิ่มขึ้นของราคาได้ดีกว่าเหรียญของเครือข่ายที่อิงตาม Proof of Work (PoW) เช่น Bitcoin, Bitcoin Cash, Litecoin ฯลฯ เป็นต้น

 

Cryptocurrency market

อ้างอิง: Goldman Sachs, Coin Metrics (Data as of 16 August 2021)

 

ระบบ Proof of Work (PoW) เป็นพื้นฐานของ Blockchain ของเหรียญอย่าง Bitcoin และระบบ Proof of Stake (PoS) ที่ Blockchain รุ่นใหม่นิยมใช้ ทั้งสองระบบมีกลไกที่แตกต่างกัน ในด้านหนึ่ง Proof of Work (การพิสูจน์ด้วยการลงมือทำงาน) คือชุดคำสั่งหรือ Protocol ที่ถูกกำหนดไว้โดยกลุ่มนักพัฒนาของเหรียญนั้นๆ PoW ของ Bitcoin เป็นการอนุญาตให้ผู้ที่มีสิทธิ์ทำธุรกรรมแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการสร้าง Block ผู้ที่สามารถแก้ปัญหาได้จะได้รางวัลตอบแทนเพื่อทดแทนกับทรัพยากรที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น ถ้ายิ่งต้องการที่จะแก้สมการหรือปัญหาให้เร็วมากเท่าไร ยิ่งต้องใช้อุปกรณ์ที่มากขึ้น ทันสมัยขึ้นและใช้กำลังไฟฟ้ามากขึ้นเท่านั้น


ในอีกด้านหนึ่ง Proof of Stake (การพิสูจน์ด้วยการถือทรัพย์สิน) คือการยืนยันทางธุรกรรมที่มีจุดประสงค์คล้ายคลึงกับ Proof of Work แต่แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของการสร้าง Block จะเปลี่ยนเป็นการกำหนดจากจำนวนเหรียญของผู้ถือเหรียญแทน หรือเรียกว่าการ Stake ซึ่งจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Validator การทำ PoS จะไม่ได้รางวัลจากการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ แต่จะได้รางวัลจากการทำธุรกรรมหรือค่าธรรมเนียมแทน 

 

โดย PoS สามารถแก้จุดอ่อนของ PoW ได้ โดยจุดที่ PoS แตกต่างคือเงื่อนไขในการรับสิทธิ์รับรองธุรกรรม โหนดที่สามารถตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมได้จะต้องมีการฝากทรัพย์สินขั้นต่ำไว้กับเครือข่าย โดยส่วนใหญ่จะเป็นสกุลเงินดิจิทัลของ Blockchain นั้นๆ และ PoS สามารถเพิ่มความเร็วให้กับการประมวลผลของเครือข่าย Blockchain ได้มาก ทั้งยังลดการใช้พลังงานและอุปกรณ์ในการขุดลงไปได้มาก เนื่องจากไม่ต้องใช้กำลังประมวลของคอมพิวเตอร์มากเหมือนกับ PoW


ด้านการประเมินมูลค่าสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ นั้นอาจมีวิธีในการประเมินในหลายรูปแบบ แต่วิธีประเมินที่พิจารณาได้ง่ายคือ ประเมินตามการเติบโตของเครือข่าย โดยเฉพาะจากกรณีการใช้งานจริงที่ไม่ใช่การเก็งกำไร และการติดตามประสิทธิภาพของสกุลเงินดิจิทัลตามประเภทต่างๆ ข้างต้น จะช่วยให้นักลงทุนและผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเหรียญกำหนดเป้าหมายได้ว่า คุณลักษณะของเครือข่ายใดที่จะมีแนวโน้มเติบโต และสามารถให้ผลตอบแทนได้ดีเมื่อเวลาและบริบทของเทคโนโลยีเปลี่ยนไป

ตัวอย่างเช่น บางช่วงที่กระแสการโอนเงินข้ามองค์กรและระหว่างประเทศแบบไร้ตัวกลางกลับมาคึกคัก เหรียญประเภทการโอนเงินอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นของราคาได้โดดเด่นกว่าเหรียญประเภทอื่น (เช่น ราคาของ XRP ปรับเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้โอนเงินที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น)

ในอีกช่วงเวลา เหรียญที่เกี่ยวข้องกับวงการ DeFi ก็อาจได้รับความนิยมและราคาสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้มากกว่าดัชนีตลาดทั่วไป เนื่องจากกระแส Search for Yield และ DeFi กลับมาร้อนแรง (เช่น ราคา UNI ซึ่งเป็น Token ของ Uniswap ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายใน DeFi ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากการเปิดตัว Uniswap รูปแบบใหม่ เป็นต้น)

อย่างไรก็ดี คุณสมบัติของเหรียญและเครือข่ายบางเครือข่ายอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาผ่านไป เช่น Ethereum ที่การทำงานของตัว Ethereum 1.0 นั้นใช้กลไก Consensus แบบ Proof of Work (PoW) แต่ Ethereum 2.0 จะเปลี่ยนไปใช้กลไก Proof of Stake (PoS) ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการเปลี่ยนการจัดประเภทสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ ใหม่ และทำให้ต้องเปลี่ยนแนวคิดในการวิเคราะห์และประเมินโอกาสการเติบโตของเหรียญและเครือข่ายใหม่ เหล่านี้เป็นเรื่องในอนาคตที่ยังคงท้าทายและมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นเต้นอยู่เสมอ เมื่อเครือข่าย Blockchain ของสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตฯ นั้นยังถูกพัฒนาและมีแอปพลิเคชันที่ใช้งานได้จริงเกิดมากขึ้นต่อเนื่องในอนาคต 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X