×

ย้อนรอย 10 เหตุการณ์สำคัญบนโลกคริปโต ในช่วงปี 2022

26.12.2022
  • LOADING...
คริปโต

ในช่วงปี 2022 ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในปีที่มีความท้าทายต่ออุตสาหกรรมคริปโตเป็นอย่างมาก เนื่องจากความกดดันทั้งจากปัจจัยภายนอก (เศรษฐกิจมหภาค) และปัจจัยภายใน (ปัญหาภายในบริษัทคริปโตเอง) มาตลอดปี จนทำให้ในปีนี้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนวงการอยู่เป็นจำนวนมาก ทางทีมงาน THE STANDARD WEALTH จึงได้รวบรวม 10 เหตุการณ์สำคัญประจำปี 2022 มาให้ในบทความนี้ 

 

1. เครือข่ายบล็อกเชน Terra ล่มสลาย

ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2022 เหรียญ UST ซึ่งเป็น ‘Algorithmic Stablecoin’ ที่ทำงานสัมพันธ์กับเหรียญ LUNA ของเครือข่ายบล็อกเชนดังอย่าง Terra เผชิญความกดดันหลังมีนักลงทุนรายใหญ่ทุ่มเงินช็อตเหรียญดังกล่าว จนเป็นเหตุให้คู่เหรียญ UST-LUNA เกิด ‘Death Spiral’ หรือการปรับระดับราคาลงของคู่เหรียญที่นำมาวางค้ำประกันแบบวงจรไปเรื่อยๆ จนทำให้ทั้งเหรียญ LUNA และ UST มูลค่าหายไปมากกว่า 99% ทำนักลงทุนจำนวนมากขาดทุนอย่างหนัก ซึ่งในบางรายถึงขนาดสิ้นเนื้อประดาตัวจากการ ‘All in’ ในเหรียญดังกล่าวเลยทีเดียว

 

2. ตลาดคริปโตเข้าสู่ฤดูหนาว

หากกล่าวถึงปี 2021 ก็จะเรียกได้ว่าเป็นปีทองของตลาดคริปโต แต่สำหรับปี 2022 นั้นคงจะเรียกได้ว่าเป็นฤดูหนาวของคริปโตเลยก็ว่าได้ หลังจากที่ปัจจัยมหภาคกดดัน จากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่พอ ยังเจอการล่มสลายของเครือข่าย Terra และเหตุการณ์อื่นๆ ตลอดปี จนเป็นเหตุให้ตลาดคริปโตโดยรวมปรับตัวลงมาอย่างหนัก โดยเหรียญใหญ่อย่าง Bitcoin ก็มีการปรับตัวลงมาจากจุดสูงสุดที่ระดับราคาราว 69,000 ดอลลาร์ในช่วงปีก่อนหน้า ลงมาทำจุดต่ำสุดที่ราว 15,000 ดอลลาร์ในปี 2022 หรือคิดเป็นการปรับตัวกว่า 78% เลยทีเดียว ในขณะที่เหรียญอื่นอาจมีการปรับตัวลงไปมากกว่านี้

 

3. Zipmex แพลตฟอร์มเทรดคริปโตไทยประสบปัญหาสภาพคล่องจนต้องขายกิจการ

ในช่วงเดือนกรกฎาคม ทาง Zipmex แพลตฟอร์มเทรดคริปโตในไทยได้ออกประกาศข่าวช็อกวงการ ว่าจะระงับการถอนเงินของลูกค้าออกจากบริการ ZipUp ซึ่งเป็นผลจากการที่ Zipmex นำเงินของลูกค้าในบริการ ZipUp ไปลงทุนต่อในแพลตฟอร์มคู่ค้านามว่า Celsius และ Babel Finance ซึ่งได้ออกมาประกาศล้มละลายเนื่องจากภาวะตลาดที่ผันผวน จนทำให้สินทรัพย์ค้ำประกันเสียมูลค่า

 

จนทำให้ในท้ายที่สุดแล้วช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีข่าวออกมาว่าทาง Zipmex คาดว่าใกล้จะปิดดีลการขายกิจการเพื่อรับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ V Ventures บริษัทย่อยของ TTA โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน)

 

4. ดีล Bitkub-SCB ล่ม

ย้อนกลับไปในช่วงเดือนกรกฎาคม บมจ.เอสซีบี เอกซ์ ได้ออกประกาศการประชุมคณะกรรมการว่า ภายหลังการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) นับตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ปี 2021 ที่มีการประกาศว่าจะมีการเข้าซื้อหุ้นบางส่วนของบิทคับ ออนไลน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ในสัดส่วน 51% นั้น แล้วพบว่าแม้จะไม่มีข้อบ่งชี้อื่นผิดปกติ แต่เนื่องจากปัจจัยภายในที่บิทคับยังต้องดำเนินตามสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อทางคณะกรรมการของ SCBS จึงได้ลงความเห็นยกเลิกธุรกรรมการเข้าซื้อดังกล่าวลง

 

5. ETH อัปเกรด ‘The Merge’ สำเร็จ

ในช่วงเดือนกันยายน เครือข่ายบล็อกเชน Ethereum ได้ทำการอัปเกรด ‘The Merge’ ซึ่งเป็นการรวมเครือข่าย Ethereum Mainnet ซึ่งเป็นการทำงานธุรกรรมแบบ Proof-of-Work (PoW) เข้ากับ Beacon Chain ซึ่งเป็นเครือข่ายทดสอบระบบ ETH2.0 ที่ทำงานแบบ Proof-of-Stake (PoS) เข้าด้วยกันได้สำเร็จ

 

6. มูลค่ารวมของตลาด NFTs ดิ่งหนัก 

จากข้อมูลของ Dune Analytics พบว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน มูลค่าตลาดรวม NFTs เหลือเพียง 466 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการปรับตัวลงมากกว่า 97% นับตั้งแต่ต้นปี ในขณะที่ DappRadar เผยว่า มูลค่าตลาดของ NFTs บนมาร์เก็ตเพลสเบอร์หนึ่งด้าน NFTs อย่าง OpenSea มีมูลค่าหายไปถึงกว่า 99% เลยทีเดียว

 

7. เหตุการณ์ช็อกวงการ FTX อดีตแพลตฟอร์มเทรดคริปโตเบอร์ 2 ของโลกประกาศล้มละลาย

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ได้มีข่าวหลุดออกมาว่าทางแพลตฟอร์มเทรดคริปโต FTX ที่ถูกก่อตั้งโดย แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ กำลังเผชิญปัญหาทางด้านสภาพคล่อง จากความสัมพันธ์กับบริษัทอย่าง Alameda Research ก่อนที่ทาง ‘CZ’ เจ้าของแพลตฟอร์ม Binance จะมีการเทขายเหรียญประจำแพลตฟอร์ม FTX อย่าง FTT 

 

ซึ่งได้มีการเปิดเผยโดยสำนักข่าว CoinDesk ว่า ทาง Alameda Research นั้นมีสินทรัพย์ของบริษัทกว่า 80% เป็นเหรียญ FTT และนำสินทรัพย์ดังกล่าวไปวางค้ำประกันเพื่อขอกู้เงินออกจาก FTX

 

จนทำให้มีนักลงทุนแห่เทขายเหรียญดังกล่าวตาม จนราคาเหรียญร่วงเกิน 70% ภายในเวลาไม่กี่วัน พร้อมทั้งผู้ใช้งานแห่ถอนเงินออกจากแพลตฟอร์ม จนทำให้ FTX เกิดปัญหาสภาพคล่อง และต้องฟ้องล้มละลายไปในที่สุด

 

8. แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ โดนจับตัวในบาฮามาส

ภายหลังจากที่ FTX ล้มละลาย แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ ผู้ก่อตั้ง FTX ก็ได้ก้าวลงจากตำแหน่งประธานบริหาร FTX และหนีไปยังบาฮามาส ก่อนที่จะโดนเจ้าหน้าที่ของบาฮามาสจับกุมตัวในวันที่ 12 ธันวาคม พร้อมเตรียมส่งตัวและตั้งข้อหาในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังสหรัฐฯ

 

9. ‘CZ’ ขึ้นเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากสุดในวงการคริปโต

หลังจากที่แพลตฟอร์มคริปโตจำนวนมากล้มละลายบ้าง หรือถูกซื้อกิจการบ้าง ก็ได้ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดเหลือผู้เล่นน้อยรายลงเรื่อยๆ และผู้เล่นที่หลงเหลืออยู่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ Binance ได้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มจากแพลตฟอร์มที่หายไปมากขึ้น ดัน ‘CZ’ ฉางเผิง จ้าว ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ Binance เป็นผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในวงการคริปโต

 

ดังที่เห็นได้จากการที่ ‘CZ’ สามารถทำให้ FTX ล้มละลายได้เพียงแค่โพสต์เดียว  นอกจากนี้ ‘CZ’ ยังมีคอนเน็กชันที่กว้างขวาง จากการที่หลายบริษัทมาขอความช่วยเหลือท่ามกลางวิกฤต ทำให้มีการเข้าไปลงทุนกับบริษัทในอุตสาหกรรมคริปโตเป็นจำนวนมาก

 

10. เศรษฐีคริปโตความมั่งคั่งวูบกว่าล้านล้านบาท

ในปี 2022 ถือได้ว่าเป็น ‘ฤดูหนาว’ สำหรับคริปโตก็ย่อมได้ จนแม้กระทั่งเศรษฐีคริปโตอย่าง ‘CZ’ ที่มีความมั่งคั่งลดลงจากต้นปีที่ราว 3.5 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 4.4 แสนล้านบาท ณ ช่วงเดือนธันวาคมของปี 2022 หรือคิดเป็นมูลค่าที่หายไปกว่า 3 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว 

 

ในขณะที่ แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ ที่เคยติดหน้านิตยสาร Forbes มหาเศรษฐีหนุ่มที่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้อย่างรวดเร็ว จนสามารถมีความมั่งคั่ง ณ สิ้นปี 2021 กว่า 6 แสนล้านบาท ก่อนที่จะไม่เหลือมูลค่าใดๆ ในช่วงปลายปี 2022 หลังจากที่ FTX ประกาศล้มละลาย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising