ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งทำจุดสูงสุดในรอบ 1 ปี อย่างน้ำมันดิบ WTI ล่าสุดปรับขึ้นทดสอบระดับประมาณ 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ช่วยหนุนให้หุ้นในกลุ่มพลังงานที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน เช่น ธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมัน ธุรกิจโรงกลั่น ปรับขึ้นได้โดดเด่นกว่าภาพรวมตลาดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
จักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ (WTI) มาถึงระดับเกือบ 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ค่อนข้างเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญคือ ซาอุดิอาระเบียลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจในระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
“เชื่อว่าราคาน้ำมันยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อ จากระดับ 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นทดสอบระดับ 60 ดอลลาร์แต่บาร์เรล แต่ช่วงของการพีกเชื่อว่ายังเป็นช่วงเดิมราวเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เนื่องจากจะเป็นช่วงที่การผลิตของเชลออยล์จะเริ่มออกสู่ตลาด หลังจากที่ราคาน้ำมันขึ้นมายืนเหนือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่เกินจุดคุ้มทุนของเชลออยล์”
สำหรับหุ้นอย่าง บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ซึ่งราคาหุ้นฟื้นตัวขึ้นมาแรงในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา จากระดับ 101 บาท กลับมาที่ 110 บาท เชื่อว่ามีโอกาสที่ราคาจะทะลุระดับสูงสุดรอบก่อนที่ 115.50 บาท ขึ้นไปทดสอบบริเวณ 120-121 บาท
โดยปัจจัยหนุนต่อราคาหุ้น PTTEP นอกจากราคาน้ำมันดิบที่มีโอกาสจะขึ้นไปทดสอบ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยังได้แรงบวกจากโครงการต่างๆ ที่อาจจะเห็นเร็วกว่าคาด เช่น แหล่งผลิตในมาเลเซียและโอมาน รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าในเมียนมา
ส่วนหุ้นกลุ่มโรงกลั่น แม้ว่าค่าการกลั่นจะยังไม่ฟื้นตัว แต่ด้วยราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้น ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 1/64 น่าจะมีกำไรพิเศษจากสต๊อกน้ำมัน ขณะที่การฟื้นตัวของธุรกิจหลักคงต้องรอดูช่วงไตรมาส 2/64 ซึ่งน่าจะเห็นค่าการกลั่นฟื้นตัวได้ โดยในปีนี้ประเมินว่าค่าการกลั่นจะฟื้นตัวจากราว 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กลับไประดับ 4.3-4.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หากดีมานด์ต่อการใช้น้ำมันฟื้นตัวเร็ว และหนุนให้ค่าการกลั่นทะลุไปถึง 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะช่วยให้หุ้นกลุ่มโรงกลั่นมีอัปไซด์เพิ่มขึ้นจากราคาเป้าหมายอีก 10%
แทรกกราฟฟิก ราคาน้ำมันดิบ WTI ตั้งแต่ต้นปี 2564
ด้าน บล.เอเซีย พลัส เชื่อว่าราคาน้ำมันยังยืนอยู่ในระดับสูง หลังราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจากแรงหนุนของทั้งฝั่งอุปสงค์ จากความคาดหวังจากเศรษฐกิจโลก รวมถึงในสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัว หนุนจาก
- พายุหิมะในตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ช่วยหนุนส่วนต่างราคาน้ำมันให้ความร้อน (Heating Oil) ปรับขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 8 เดือน อยู่ที่ 15.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
- ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของโลกที่ลดลง
- ความคาดหวังเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท
ขณะที่อุปทานลดลง โดย OPEC+ รายงานผลการตัดลดกำลังการผลิตน้ำมันเดือนมกราคม ประเทศโดยส่วนใหญ่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่สัญญาไว้ เช่น ซาอุดีอาระเบียปรับลดกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และสัญญาว่าจะทำต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2564 และยังมีคาซัคสถาน ซึ่งเดือนมกราคมปรับลดการผลิตน้อยลงจากเดือนธันวาคม ส่วนประเทศอื่นๆ อาทิ รัสเซีย แม้เดือนมกราคมจะปรับเพิ่มกำลังการผลิต แต่ยังเท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบโลกวานนี้ยังปรับขึ้นแรงต่อ อย่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับขึ้น 3.5% ในสัปดาห์นี้ และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ปรับขึ้นมาแล้ว 11% มาแตะระดับ 57.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
โดยภาพรวม ฝ่ายวิจัยประเมินราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นแรงถือเป็น Sentiment บวกต่อหุ้นในกลุ่มน้ำมันทั้ง PTTEP ราคาเป้าหมาย 118 บาท และ PTT ราคาเป้าหมาย 48.50 บาท โดยราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทนี้ยัง Laggard จากราคาน้ำมันดิบค่อนข้างมาก ส่วนประเด็นความกังวลเรื่องแรงขายหรือแรงปรับพอร์ตในหุ้นพลังงาน เพื่อเตรียมเงินรอซื้อหุ้น OR ประเมินว่าได้ตอบรับไปในราคาหุ้นหมดแล้ว
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล