×

จาก Y2K สู่วิกฤต CrowdStrike ‘ความกลัว’ ที่กลายเป็น ‘ความจริง’ กับข้อพิสูจน์ว่าโลกอยู่ไม่ได้หากไร้คอมพิวเตอร์

24.07.2024
  • LOADING...
Y2K CrowdStrike

HIGHLIGHTS

  • การล่มของระบบไอทีเพราะ CrowdStrike เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ให้ภาพคล้ายคลึงกับความกลัวของเหตุการณ์ Y2K ที่หลายคนในปลายยุค 90 กังวลว่าจะเกิดขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเมื่อปี 2000 มาถึง
  • Y2K เป็นปัญหาเชิงคอมพิวเตอร์ที่เลือกจะระบุปีโดยใช้เลขท้าย 2 หลัก ทำให้คนในวงการไอทีกลัวว่าเมื่อโลกเปลี่ยนจากปี 1999 สู่ปี 2000 คอมพิวเตอร์จะตีความ ‘00’ ปี 2000 หรือเป็นปี 1900 แทนกันแน่?
  • การแก้ปัญหา Y2K ใช้งบลงทุนประมาณ 3-6 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อเลี่ยงวิกฤตที่เคยถูกมองว่าอาจทำให้โลกล่มสลาย เช่น เครื่องบินจะตก โรงงานไฟฟ้าจะปิดตัว หรือข้อมูลธุรกรรมในบัญชีธนาคารของลูกค้าจะสูญหาย
  • เหตุการณ์ CrowdStrike ทำให้เราอยู่ในภาวะที่คล้ายกับว่าโลกเป็นอัมพาตไปชั่วขณะ ยิ่งตอกย้ำความเชื่อมโยงของตัวมนุษย์กับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างระบบคอมพิวเตอร์ที่แทบจะตัดกันไม่ขาดแล้ว

ในวันที่ 31 ธันวาคม 1999 เป็นอีกครั้งที่ผู้คนทั่วโลกต่างตั้งตาเฝ้ารอวันขึ้นปีใหม่ด้วยความตื่นเต้น แต่ครั้งนั้นไม่เหมือนกับครั้งอื่นๆ เพราะบรรยากาศก่อนปีใหม่ที่เคยเปี่ยมไปด้วยการสังสรรค์ กลับกลายเป็นความกังวลปนระทึก กลัวว่าทันทีที่เข็มนาฬิกาชนเลข 12 เมื่อนั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความโกลาหลบนโลก ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณที่ผิดพลาดของระบบธนาคาร สายการบิน ระบบไฟฟ้า และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์สำหรับเก็บและประมวลผลข้อมูล

 

ความกลัวที่แผ่ขยายไปทั่วโลกนี้ถูกเรียกว่า Year 2000 Problem หรือ Y2K ซึ่งถ้าพูดถึงคำนี้ในปัจจุบัน ก็น่าจะชวนให้หลายคนคิดถึงแฟชั่นการแต่งตัวย้อนยุคที่เป็นเทรนด์ฮิตในช่วงที่ผ่านมา แต่อีกความหมายหนึ่ง Y2K เคยถูกใช้เป็นคำพยากรณ์เกี่ยวกับการล่มของระบบไอที ที่อาจนำมาสู่วิกฤตครั้งใหญ่ของโลกยุค ‘Information Age’

 

แม้ว่า Y2K จะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะทั้งโลกแก้ไขปัญหาได้ทัน แต่เหตุขัดข้องของระบบไอทีครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม จากบริษัท CrowdStrike ก็ชวนให้หลายคนนึกย้อนถึงความกลัวที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญไอที ณ เวลานั้นเคยกังวล กับความเป็นไปได้ที่ระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์จะล้มเหลวเมื่อโลกเข้าสู่ปี 2000

 

แรงกระเพื่อมของ CrowdStrike ถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ถูกเรียกว่า ‘การล่มของระบบไอทีที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก’ ซึ่งเราจะชวนวิเคราะห์ความเหมือนและความต่างระหว่างสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเทียบกับกรณีของ Y2K ที่ไม่เคยเกิด แต่กลับทำนายเหตุการณ์บางอย่างที่มีสิทธิ์จะเกิดได้ค่อนข้างแม่นยำเมื่อเกือบ 3 ทศวรรษที่แล้ว

 

ทำไม Y2K สร้างความกลัวไปทั่วโลก?

 

ในช่วงปี 1960-1980 ที่คอมพิวเตอร์ยังเป็นของแพง หายาก และไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในหมู่คนทั่วไป โค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ถูกออกแบบมาให้ใช้หน่วยความจำน้อยที่สุด เนื่องจากสมัยนั้นความจำขนาด 1 เมกะไบต์ (ข้อมูลมหาวิทยาลัย Standford ระบุว่า ใหญ่พอสำหรับแค่เก็บไฟล์เสียง mp3 ได้เพียง 1 นาที) มีมูลค่าประมาณ 600,000 ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าน้อยมากและแพงสุดๆ ดังนั้น เพื่อให้การใช้สอยพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด วิศวกรคอมพิวเตอร์จึงเลือกใช้เลขท้ายสองหลักของ ค.ศ. เพื่อระบุช่วงปีในระบบคอมพิวเตอร์

 

แต่ปัญหาสำคัญของวิธีนี้คือ เมื่อโลกเปลี่ยนจากปี 1999 ไปสู่ปี 2000 คอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนจาก ‘99’ เป็น ‘00’ ซึ่งเหล่านักเขียนโปรแกรมก็กังวลว่าระบบจะไม่ได้ตีความค่า ‘00’ เป็นปี 2000 แต่ย้อนกลับไปเป็น 1900 แทน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นทุกอย่างที่ต้องอาศัยข้อมูล ‘วันและเวลา’ ในการตัดสินใจจะทำงานผิดพลาดได้

 

 

หนังสือพิมพ์ Daily Mail ของอังกฤษเคยเขียนข่าวไว้ในวันที่ 14 ธันวาคม 1997 ว่า สายการบินจำนวนมากวางแผนที่จะยกเลิกเที่ยวบินในวันที่ 1 มกราคม 2000 เนื่องจากความกลัวที่ว่าระบบควบคุมการจราจรทางอากาศจะไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง หรือตัวเครื่องบินเองที่ระบบมีความอ่อนไหวต่อเรื่องวันเวลา

 

โดยข้อมูลของบริษัท Boeing เคยระบุว่า เครื่องบินโดยสารต้องได้รับการตรวจสอบสภาพในปี 2000 แต่หากระบบคอมพิวเตอร์ในตัวเครื่องบินตีความ ‘00’ เป็นปี 1900 คอมพิวเตอร์จะเข้าใจว่าการซ่อมบำรุงครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นนานราวเกือบ 100 ปีที่แล้ว และอาจทำให้ระบบรวนจนยุติการทำงาน และกระทบกับความปลอดภัยของผู้โดยสาร

 

ในทำนองเดียวกัน ภาคการเงินเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่หลายฝ่ายกังวลในเวลานั้น เนื่องจากสถาบันการเงินเป็นผู้เก็บรายการธุรกรรม ประเมินมูลค่าดอกเบี้ยค้างจ่าย ฯลฯ ซึ่งหากวันเวลาย้อนกลับไปปี 1900 นั่นอาจเท่ากับว่ารายการธุรกรรมหลังเวลาดังกล่าวจะสูญหายไปด้วย หรือแม้แต่แผนประกันที่คอมพิวเตอร์อาจเข้าใจว่าผิดนัดชำระมาหลายสิบปีแล้ว

 

นอกจากนี้ ระบบจัดการพลังงาน เครือข่ายการสื่อสาร ระบบสาธารณูปโภค และธุรกิจอื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่พึ่งพาคอมพิวเตอร์ทางใดทางหนึ่งเพื่อให้ทำงานได้ ก็ถูกมองในเวลานั้นว่าจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งภาครัฐและเอกชนตระหนักถึงปัญหา และระดมผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีจำนวนมากในการร่วมมือกันแข่งกับเวลาเพื่อหาทางป้องกัน โดยวิธีแก้คือการเพิ่มเลขให้ครบทั้งหมด 4 หลัก ซึ่งอาจฟังดูเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก แต่ความจริงแล้วการแก้ไขครั้งนั้นแลกมาด้วยเงินจำนวนเงินลงทุนที่อยู่ระหว่าง 3-6 แสนล้านดอลลาร์จากการประเมินของบริษัท Gartner หรือประมาณมูลค่าตลาดของบริษัทระดับโลกอย่างเช่น LVMH และ Visa เลยทีเดียว

 

CrowdStrike ภาพจำลอง Y2K ที่มาถึงเลตไป 24 ปี?

 

กลับมาในยุคปัจจุบัน ความวุ่นวายทั่วโลกเพราะ ‘จอฟ้ามรณะ’ (Blue Screen of Death) จากการอัปเดตซอฟต์แวร์ของ CrowdStrike ก็เป็นต้นตอลากเอาธุรกิจที่ต้องพึ่งพาระบบซอฟต์แวร์ของ Microsoft ลงเหวไปด้วย

 

สายการบินทั่วโลกต้องหยุดชะงักเพราะคอมพิวเตอร์ไม่สามารถจัดการเที่ยวบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เที่ยวบินนับพันเที่ยวในหลายประเทศต้องถูกยกเลิก ในขณะที่ระบบชำระเงินในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งใช้งานไม่ได้ชั่วคราว โดยประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งสายการบินแอร์เอเชียเกิดความล่าช้า รวมถึงระบบจัดลำดับการนัดหมายแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ก็เจอปัญหาล่าช้าเช่นเดียวกัน

 

 

สถานการณ์ดังกล่าวชวนให้เกิดคำถามว่า CrowdStrike เป็นภาพจำลองของความกลัว Y2K ที่กลายเป็นจริงแล้วหรือไม่? และถ้าเป็นเช่นนั้นมันเหมือนกับสิ่งที่คนกลัวในช่วงนั้นมากน้อยแค่ไหน?

 

THE STANDARD WEALTH คุยเรื่องนี้กับ ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์ ซีอีโอของบริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด และอดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ที่เคยทำงานกับ Google กว่า 10 ปี

 

“หากมองในเชิงผลกระทบ ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นจาก CrowdStrike ก็น่าจะให้ผลลัพธ์ที่คล้ายกับ Y2K หากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง แต่จุดแตกต่างคือ Y2K เป็นปัญหาที่คนในวงการไอทีมีเวลาเตรียมตัวค่อนข้างนานก่อนที่ปี 2000 จะมาถึง ในทางกลับกัน CrowdStrike เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะที่หลายฝ่ายไม่ทันตั้งตัว ซึ่งในอนาคตก็ต้องยอมรับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นอีก และไม่สามารถป้องกันแบบ 100% ได้” ธรรมนิติ์กล่าว

 

อีกข้อแตกต่างคือ Y2K เป็นปัญหาของเรื่องวันและเวลา ส่วน CrowdStrike คือปัญหาการเขียนคำสั่งโปรแกรมที่ผิดพลาดหรือตกหล่นจนทำให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลต่อไม่ได้ แต่ในเชิงผลกระทบที่เผยออกมาก็มีมุมที่คล้ายกับบางสิ่งที่คาดว่าจะเกิดกับ Y2K ที่คอมพิวเตอร์จะไม่สามารถทำงานต่อได้ จนนำมาสู่ผลกระทบเช่น ยุติการบริการของสายการบิน หรือยุติการเข้าถึงแอปธนาคารเพื่อทำธุรกรรม

 

อย่างไรก็ตาม ธรรมนิติ์มองว่า Y2K เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง และคงไม่มีใครบอกได้อย่างแม่นยำไปกว่าการคาดคะเน “คนที่กลัวมากๆ เขาเชื่อไปแล้วว่าเครื่องบินจะตก โรงงานไฟฟ้าจะปิดตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะเมื่อข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ผิด แนวโน้มที่คนจะจินตนาการไปถึงกรณีที่ย่ำแย่ที่สุดก็เกิดขึ้นได้” แต่สิ่งที่คนทั้งโลกสัมผัสกับวิกฤตครั้งนี้คือ การที่โลกหยุดหมุนไปชั่วขณะเพราะซอฟต์แวร์ตัวเดียว รวมถึงความเปราะบางของโลกยุคดิจิทัลที่เผยออกมาให้เห็นแล้ว

 

โลกคงอยู่ยาก หากคอมพิวเตอร์ถูกพรากไป

 

ตามรายงานของ Microsoft จำนวนอุปกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ซอฟต์แวร์อัปเดตอยู่ที่ 8.5 ล้านเครื่อง หรือประมาณ 1% ของอุปกรณ์ Windows ทั้งหมด แต่จำนวนแค่นี้ก็ทำให้หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่สามารถดำเนินการต่อได้ โดยนักเศรษฐศาสตร์ออกมาประเมินว่า มูลค่าความเสียหายมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับหลายพันล้านดอลลาร์

 

ภาวะที่คล้ายกับว่าโลกเป็นอัมพาตไปชั่วขณะ ยิ่งตอกย้ำความเกี่ยวโยงของมนุษย์ในโลกดิจิทัลกับระบบคอมพิวเตอร์ เพราะสมัยนี้หลายอย่างในชีวิตแทบจะตัดไม่ขาดจากโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลตัวนี้แล้ว

 

“ช่วงก่อนที่เข้าจะสู่ปี 2000 วิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ยังมีหลายอย่างที่ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องมือดิจิทัล แต่ในปัจจุบันนั้นไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เอาเรื่องใกล้ตัวที่สุดของหลายคนคือ ถ้าเราลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านในโลกทุกวันนี้ มันคงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกเหมือนขาดอะไรไป หรือเกิดความไม่สบายใจ หรือกรณีล่าสุดก็เป็นที่ประจักษ์ว่าระบบคอมพิวเตอร์หยุดทำงานหลักชั่วโมงมันกระทบกับโลกมากแค่ไหน” ธรรมนิติ์กล่าว

 

และแม้ว่าการพึ่งพาระบบคอมพิวเตอร์ก่อนปี 2000 จะน้อยกว่าปัจจุบัน แต่ความตื่นตัวกับความกังวลเรื่อง Y2K แสดงให้เห็นว่าระบบคอมพิวเตอร์ฝังรากลึกลงไปในแกนหลักของเศรษฐกิจโลก และสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนมาหลายสิบปีแล้ว โดยเฉพาะกับสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล การใช้ชีวิตประจำวันตอนนี้ก็ยากจะตัดบทบาทของคอมพิวเตอร์ออกไปได้

 

การหยุดชะงักของระบบไอทีทั่วโลกจากความขัดข้องของบริษัท CrowdStrike กลายเป็นข้อพิสูจน์เรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนว่า คอมพิวเตอร์สำคัญกับเราแค่ไหน ดั่งที่ Isaac Asimov ผู้เขียนนิยายชื่อดัง Foundation กล่าวว่า…

 

“ผมไม่กลัวการมีอยู่ของคอมพิวเตอร์ แต่กลัวว่ามันจะหายไปมากกว่า”

 

ภาพประกอบ: Avalon / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising