วันนี้ (14 กันยายน) ตัวแทนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ตั้งโต๊ะรับเรื่องราวร้องทุกข์กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและสลายการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง
อดิศร โพธิ์อ่าน ตัวแทนชาวบ้านดินแดงและห้วยขวาง กล่าวว่า ล่าสุดมีผู้ที่เดินทางมาลงชื่อแล้วกว่า 18 รายชื่อ ส่วนมากคือบ้านเรือนได้รับความเสียหาย และบางส่วนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม แต่ถูกทำร้ายร่างกายจากทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ทราบฝ่าย หลังจากนี้ในฐานะตัวแทน จะรวบรวมรายชื่อทั้งหมดเดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ดินแดง เพื่อลงบันทึกประจำวัน
อดิศร กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมองว่าการจะเข้ามาชุมนุมในพื้นที่ ชาวบ้านเองที่ไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาล ก็คงไม่มีปัญหาที่จะมีการชมนุม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือไม่อยากให้ฝ่ายใดก็ตามใช้ความรุนแรง เพราะสุดท้ายแล้วชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน
ขณะที่หนึ่งในครอบครัวของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวคือกำลังเดินทางกลับที่พัก ซึ่งระหว่างนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมน่าจะได้รับข้อมูลว่าชายที่มีลักษณะดังกล่าวเป็นสายสืบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทางกลุ่มผู้ชุมนุมจึงพยายามเข้ามาทำร้ายร่างกายและทำให้น้องของตนต้องกระโดดจากสะพานหลบหนีและเกิดการบาดเจ็บ มีหนึ่งคนที่กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และอีก 1 คนได้เข้าแจ้งความไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
ส่วนตัวในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่ดินแดง อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าในช่วงกลางคืนที่เป็นช่วงเวลาพักผ่อน เมื่อมีการจุดพลุ ประทัด ทำให้เด็กต้องสะดุ้งตื่น และทำให้ชาวบ้าน ได้รับความเดือดร้อน ส่วนตัวยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหากับการชุมนุม แต่ขอให้หลีกเลี่ยงการทำให้เกิดเสียงดังในบริเวณพื้นที่พักอาศัย
ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าส่วนมากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กระสุนยางที่ตกไปตามบ้านเรือน หรือแม้แต่ควันจากแก๊สน้ำตา แต่พักหลังมานี้สิ่งที่เกิดขึ้นและสร้างผลกระทบที่สุดคือพลุไฟที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้เพื่อโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ด้าน วรชาติ อหันทริก หนึ่งในทีมนักกฎหมายของตัวแทนกลุ่มผู้อาศัยดินแดง ห้วยขวาง กล่าวว่าขณะนี้ได้ประสานมูลนิธิวัฒนธรรมให้เข้ามารับเรื่อง จากนี้จะเป็นส่วนของการติดต่อกรมคุ้มครองสิทธิของกระทรวงยุติธรรมให้เข้ามาดูแลดำเนินการตามขั้นตอนให้ผู้ที่ได้รับความเสียหาย จากการชุมนุมและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถดำเนินคดีในส่วนคดีอาญาได้ โดยกรมคุ้มครองฯ จะต้องสำรวจและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เพื่อพิจารณามาตรการเยียวยา
วรชาติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงกลายเป็นยุทธศาสตร์แห่งความรุนแรง อยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติประเมินและพิจารณาปรับกลยุทธ์การรับมือ ทดลองไม่ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนลงมาปฏิบัติงานในพื้นที่ 2-3 วัน และให้ดูว่าผู้ชุมนุมหรือผู้ที่ออกจากกรอบการชุมนุมเมื่อไม่เจอเจ้าหน้าที่จะเกิดการปะทะหรือไม่
“ถามเจ้าหน้าที่ก็อ้างว่าจะต้องมีการดำเนินคดี ส่วนตัวแล้วผมมองว่าในพื้นที่มีกล้องวงจรปิดมากพอที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่เดินทางมา” วรชาติ กล่าว