สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า สัดส่วนการชำระเงินข้ามประเทศในรูปสกุลเงินรูเบิลและเงินหยวนของรัสเซียปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ชาติตะวันตกเริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินต่อรัสเซียในเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับการใช้งานระบบการชำระเงิน Cross-Border International Payments System (CIPS) ของจีนที่เติบโตขึ้น 50%
โดยข้อมูล ณ เดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ระบุว่า สัดส่วนการชำระเงินข้ามประเทศในรูปสกุลเงินรูเบิลและเงินหยวนของรัสเซียเพิ่มขึ้นจากราว 13% เป็น 47% นับตั้งแต่ชาติตะวันตกเริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินต่อรัสเซียในเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา สวนทางกับสัดส่วนการชำระเงินในรูปสกุลดอลลาร์และยูโรที่ปรับลดลงจาก 87% มาอยู่ที่ 53%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รัสเซียบรรลุข้อตกลงจีนใช้เงิน ‘หยวน-รูเบิล’ จ่ายค่าก๊าซ หวังลดใช้เงินดอลลาร์
- เงินหยวน ผงาดขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งสกุลเงินต่างประเทศที่ซื้อ-ขายมากที่สุดในรัสเซีย
- ‘จีน-รัสเซีย’ มูลค่าการค้าในรูป ‘รูเบิล-หยวน’ พุ่งขึ้นกว่า 1,000% นับตั้งแต่เกิดสงคราม
ปัจจุบันการชำระเงินข้ามประเทศของรัสเซียบางส่วนยังคงอยู่ในรูปเงินดอลลาร์และยูโร โดยเฉพาะการชำระค่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติผ่าน Gazprombank สถาบันการเงินของรัสเซียที่ยังได้รับการยกเว้นให้สามารถใช้งานระบบการชำระเงิน SWIFT ของฝั่งตะวันตก แต่ก็เป็นที่คาดการณ์ว่าสัดส่วนดังกล่าวจะทยอยลดลงต่อเนื่อง
ในช่วงที่ผ่านมา Gazprom บริษัทพลังงานของรัสเซียได้ขอให้คู่ค้าในยุโรปชำระเงินค่าก๊าซและน้ำมันเป็นสกุลรูเบิล ขณะเดียวกันก็หันไปใช้เงินหยวนในการซื้อขายกับจีนและหลายชาติในเอเชียแทนการใช้เงินดอลลาร์
“ระบบ CIPS เป็นทางเลือกที่เข้ามาเป็นแทนที่ระบบ SWIFT และมันจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากการที่รัสเซียถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางการเงิน” ริเอะ นากาดะ จากศูนย์วิจัย Daiwa กล่าว
สภาพคล่องในรูปเงินสกุลดอลลาร์และยูโรที่เหือดหายไปจากตลาดรัสเซียทำให้การกู้ยืมเงินเป็นสกุลเงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศของภาคธุรกิจรัสเซียปรับตัวลดลง 13% ขณะที่การกู้ยืมในรูปสกุลรูเบิลปรับสูงขึ้น 11% ขณะที่การโอนเงินเข้าออกประเทศของรัสเซียในรูปดอลลาร์ก็ปรับลดลงอย่างมาก
ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคาร Mizuho ของญี่ปุ่นได้แจ้งกับลูกค้าของตัวเองว่าการโอนเงินเข้ารัสเซียจะต้องไม่อยู่ในรูปดอลลาร์ เนื่องจากธนาคารตัวแทนในกรุงมอสโกไม่สามารถทำธุรกรรมดังกล่าวได้
โทรุ นิชิฮามะ จากศูนย์วิจัย Dai-ichi Life ระบุว่า เศรษฐกิจรัสเซียและจีนมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความกังวลว่าระบบการเงินโลกในอนาคตอาจจะถูกแบ่งแยกมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการค้าโลก
อ้างอิง: