วานนี้ (19 พฤศจิกายน) ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กภายหลังคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจประชุมนัดแรกหลังรอมา 2 เดือนเต็ม วันนี้คณะกรรมการฯ ให้ประชุมนัดแรกและเราทราบความชัดเจน 3 ข้อ ได้แก่
- แจกเงินหมื่นรอบที่ 2 (ยังไม่เป็นดิจิทัลวอลเล็ต) กับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป 3-4 ล้านคน โดยจะแจกประมาณต้นปีหน้าช่วงตรุษจีน ยังไม่ชัดว่าแจกวันที่เท่าไรและลงทะเบียนเพิ่มเมื่อไร
- ปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้าน กลุ่มรถยนต์ และกลุ่มหนี้บริโภค ที่เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี วงเงินหนี้ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท จะได้รับพักชำระดอกเบี้ยค้างจ่าย ซึ่งรายละเอียดยังไม่ชัดและต้องรอหลังวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้
- โครงการไร่ละพัน (โดยปกติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ หรือ นบข. ต้องเป็นคนเคาะ) แต่จะปรับรายละเอียดอีกเพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในระยะยาว ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะปรับอะไร
“สรุปว่ายังไม่มีอะไรชัดเจนสักอย่างจริงๆ นะ แค่เปลี่ยนนายกฯ คนเดียวนี่อย่างกับตั้งรัฐบาลใหม่ เหมือนไม่เคยคิดเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจกันมาก่อนหน้านี้เลยต้องเริ่มต้นใหม่ ต้องใช้เวลาถึง 2 เดือน” ศิริกัญญากล่าว
ศิริกัญญากล่าวต่ออีกว่า “เศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่สภาพัฒน์เพิ่งออกมาประกาศว่าโต 3% ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ อาจทำให้รัฐบาลรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ได้หรือไม่ ถึงได้ดูลังเลและไม่รีบร้อน”
เมื่อเจาะไส้ในของ GDP จะพบว่า ที่เศรษฐกิจโตดีมาจากงบปี 2567 ที่ออกมาไตรมาส 2 และเร่งเบิกจ่ายกันในไตรมาส 3 ทั้งส่วนของรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำ บวกกับการส่งออกที่กลับมาดี และแน่นอนการท่องเที่ยวยังคงเติบโตได้ดี
แต่ส่วนที่ยังเป็นปัญหาคือการลงทุนภาคเอกชนที่ยังหดตัวมา 2 ไตรมาสติดแล้วจากหมวดยานยนต์และหมวดก่อสร้าง สอดคล้องกับยอดขายรถกระบะที่หดตัวลงและยอดขายบ้านที่ลดลง ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องของธนาคารที่ไม่ปล่อยสินเชื่อ
“แน่นอนว่าทั้งสองเรื่องโยงกลับไปที่ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลเองก็มีมาตรการแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่เหมือนกันคือ การปรับโครงสร้างหนี้ให้คนที่เป็น NPL ซึ่งก็ดูเหมือนจะมาถูกทางหรือไม่” ศิริกัญญากล่าว
ศิริกัญญากล่าวอีกว่า การปรับโครงสร้างหนี้รอบนี้จะช่วยอะไรบ้าง ช่วยให้ยอด NPL ลดลง จะทำให้ธนาคารตั้งทุนสำรองลดลง หรือธนาคารมีกำไรเพิ่ม แต่ธนาคารจะปล่อยกู้เพิ่มหรือไม่ก็ไม่แน่เสมอไป เนื่องจากสาเหตุที่ธนาคารไม่ปล่อยกู้คือความเสี่ยงของลูกหนี้เองที่มีรายได้ไม่พอจ่ายหนี้ (Credit Risk) หมายความว่า ธนาคารมีเงินเพิ่มก็ไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยกู้บ้าน-กู้รถเพิ่มในปริมาณเท่ากัน เหตุการณ์คล้ายๆ กับการที่แม้ดอกเบี้ยลดก็ไม่ได้หมายความว่าธนาคารจะปล่อยกู้เพิ่ม
“ดังนั้นวิธีที่จะแก้ปัญหานี้คือ ต้องทำให้รายได้ประชาชนและรายได้ผู้ประกอบการดีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงฝั่งลูกหนี้ จะหวังแค่ว่าให้ GDP โตอย่างเดียวไม่ได้ ประชาชนต้องมีเงินมากขึ้นด้วย แล้ววิธีแก้ไขของรัฐบาลก็เลยแจกเงินหมื่นให้คนอายุเกิน 60 ปีจำนวน 3-4 ล้านคนแบบนี้เหรอ มันจะช่วยอะไรได้จริงๆ เหรอ 2 เดือนที่รอคอย ยิ่งตามก็ยิ่งงงกับรัฐบาลนี้จริงๆ” ศิริกัญญากล่าว
อ้างอิง: