×

‘กอบศักดิ์’ เตือน เร่งรับมือวิกฤตในตลาดเกิดใหม่ที่อาจกระจายไปทุกภูมิภาคช่วง 2 ปีข้างหน้า ย้ำ ‘ไทย’ เสี่ยงโดนด้วย

03.07.2022
  • LOADING...
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kobsak Pootrakool หัวข้อ ‘Emerging Market Crisis 2022-2023’ เตือนถึงความเสี่ยงจากวิกฤตที่อาจมาเยือนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ว่า สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไปก็คือ วิกฤตในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market ที่รอบนี้เริ่มต้นจากประเทศเล็กๆ เช่น ประเทศศรีลังกา และกำลังค่อยๆ กระจายออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ปากีสถาน, กานา, แซมเบีย และ สปป.ลาว โดยจะสะสมพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า 

 

ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะ Emerging Market โดยรวมกำลังถูกกดดันจาก

 

  1. ดอกเบี้ยโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นจากการสู้ศึกกับเงินเฟ้อของประเทศหลักๆ ทำให้ต้องมีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

 

  1. วิกฤตพลังงานและวิกฤตอาหารโลก ที่ทำให้ราคาพลังงาน ราคาอาหาร และราคาปุ๋ยแพงขึ้น 

 

  1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ส่งออกได้น้อยลง

 

ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น และการไหลออกของเงินจากกลุ่ม Emerging Market นำไปสู่เงินสำรองระหว่างประเทศที่ลดลง ค่าเงินที่อ่อน เงินเฟ้อที่สูง และสุดท้ายลุกลามขึ้นเป็นวิกฤตในที่สุด

 

ยิ่งวิกฤต Perfect Storm จากสามทวีปที่กำลังถาโถมเข้าใส่ประเทศหลักของระบบเศรษฐกิจโลก เช่น สหรัฐอเมริกา, ยุโรป, อังกฤษ และญี่ปุ่น มีความรุนแรง ยาวนานมากขึ้นเท่าใด วิกฤตใน Emerging Market ก็จะมีความลำบาก ท้าทายมากขึ้นเท่านั้น 

 

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิกฤตในตลาดเกิดใหม่รอบนี้ก็คือ โดยปกติแล้ว วิกฤตในประเทศเกิดใหม่จะเกิดเป็นพื้นที่ เช่น 

 

Latin American Debt Crisis ที่เริ่มในปี 1982

 

Asian Financial Crisis ระหว่างปี 1997-1998

 

Eastern European Crisis หลังเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008

 

เนื่องจากประเทศในพื้นที่เดียวกัน มักจะทำตัวคล้ายๆ กัน มีปัญหาคล้ายๆ กัน ทำให้เวลาที่เกิดวิกฤตก็จะล้มไปในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน 

 

แต่ในรอบนี้ วิกฤตจะกระจายไปทุกพื้นที่ ทุกภูมิภาค โดยจะเริ่มจากประเทศเล็กๆ ที่มีฐานะการเงินและเศรษฐกิจอ่อนแอก่อน เช่น ศรีลังกา, กานา, ปากีสถาน และ สปป.ลาว และค่อยๆ วนขึ้นมาในประเทศที่ใหญ่ขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า 

 

สาเหตุที่วิกฤตรอบนี้จะไม่อยู่ในพื้นที่เดียวก็เพราะว่าปัญหามีสาเหตุร่วมเดียวกัน ราคาพลังงาน ราคาอาหาร อัตราดอกเบี้ยโลกที่เพิ่มขึ้น หนี้ที่ทุกคนต่างกู้ยืมมาง่ายๆ เป็นจำนวนมากในช่วงสู้ศึกกับโควิด ทำให้ Emerging Market ทั้งหมดถูกกระทบ 

 

เพียงแต่คนที่อ่อนแอสุดจะเป็นคนที่เข่าอ่อนก่อนคนอื่นๆ ทำให้นักลงทุนโลกเริ่มมองหาคนถัดไปด้วยคำถาม Who is Next

 

พร้อมเตรียมการโดยทยอยโยกเงินออกจากกลุ่มประเทศเสี่ยงใน Emerging Market ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในพันธบัตรที่ออกมาใหม่ 

 

ล่าสุดจะเห็นว่า EMBI Global Diversified Composite หรือดัชนีการลงทุนในกองพันธบัตรรัฐบาลในกลุ่ม Emerging Market ที่สร้างโดย J.P. Morgan ได้ลดลงไปใกล้ช่วงที่รุนแรงสุดจากโควิดแล้ว

 

นอกจากนี้ยังพบว่า มีประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรที่มี Spread สูงมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อยู่ประมาณ 17 ประเทศ นับเป็นจำนวนสูงสุดมากกว่าช่วงปี 2008 หรือช่วงโควิด

 

ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ดอกเบี้ยของ Fed ที่เพิ่มขึ้นไปก็จะกดดันให้มีประเทศในกลุ่ม Emerging Market ที่เข้าไปอยู่ในเรดาร์ของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น วนจากประเทศที่อ่อนแอมากไปยังประเทศอ่อนแอ และประเทศที่พอไปได้ ทำให้เป็นวิกฤต Emerging Market ในรูปแบบใหม่ที่กระจายไปทุกพื้นที่ในช่วง 2 ปีข้างหน้า 

 

ทั้งหมดหมายความว่า สุดท้ายแล้วหางของมรสุมใน Emerging Market ก็จะฟาดหัวฟาดหางไปทุกที่ รวมถึงประเทศไทย

 

ถ้าเราเตรียมการดีตั้งแต่วันนี้ ทำตัวให้ดี ให้แตกต่าง ให้มีภูมิคุ้มกันภัย ไม่ต่างกับช่วงโควิดที่เมื่อเรารู้ว่ามีเชื้อร้ายกำลังระบาด ก็หมั่นออกกำลังกาย กินวิตามิน สร้างภูมิต้านทาน ปกป้องตนเองด้วยสุขอนามัยที่ดี เราก็จะผ่านไปได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X