วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ศาลนัดฟังคำสั่งคดีหมายเลขดำ อท.23/2566 ที่ รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยื่นฟ้อง พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กับพวก รวม 7 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ความผิดต่อเสรีภาพ, ทำพยานหลักฐานเท็จฯ, เจ้าพนักงานแกล้งให้ต้องรับโทษ บุกรุก ซ่องโจร ผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
จากกรณีจำเลยทั้งหมดวางแผนล่อลวงให้รับเงิน และเผยแพร่ข้อมูลบันทึกวิดีโอให้สื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทำให้ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง
โดยศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาวันนี้ มีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องในประเด็นดังนี้
1.1 เนื่องจากโจทก์มีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 79 ซึ่งเป็นเพียงบทกำหนดโทษ แต่ในคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายให้ชัดเจนถึงพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 7 กระทำการใดอันเป็นความผิดตามมาตราใดที่จะขอให้ลงโทษตามมาตรา 79 ทั้งบทกำหนดโทษตามมาตรา 79 ดังกล่าวเป็นบทกำหนดโทษของ ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล’ ที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.นี้ ดังนั้นโจทก์ต้องบรรยายให้ชัดเจนว่าจำเลยทั้ง 7 เป็น ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล’ ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด อย่างไร และมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้อย่างไร และสิ่งใดที่ถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ.นี้อย่างไร และจำเลยทั้ง 7 กระทำการอย่างใดอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ที่จะทำให้จำเลยทั้ง 7 ต้องรับผิดตามมาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.นี้
1.2 เนื่องจากโจทก์มีคำขอให้ลงโทษตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 25, 28 และ 33 โดยโจทก์แถลงว่าเป็นเพียงการอ้างถึงสิทธิของโจทก์ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ประสงค์ขอให้ลงโทษ จึงให้แก้ไขคำขอท้ายฟ้องโดยตัดข้อความเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560 ออก
- ให้โจทก์มาแถลงข้อเท็จจริงและชี้ช่องพยานหลักฐานด้วยตนเองในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เวลา 09.30 น. ในประเด็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 164, 179, 200, 210, 310, 364 และ 365 เกี่ยวกับพฤติการณ์ทั้งก่อนและหลังจากที่โจทก์ถูกจับกุมเพิ่มเติม เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รู้เห็นข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยตนเอง
- ศาลจะมีหนังสือไปถึง ‘กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ พร้อมแนบสำเนาบันทึกการจับกุม รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ฉบับลงวันที่ 27 ธันวาคม 2565 เพื่อให้ชี้แจงข้อมูลและจัดส่งเอกสาร
3.1 มูลเหตุและรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ทั้งก่อนและในขณะเข้าตรวจค้นและจับกุม รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามสำเนาบันทึกการจับกุม
3.2 การตรวจค้นและจับกุมรัชฎา ตามข้อ 3.1 กระทำโดยมีหมายค้นและหมายจับหรือไม่ อย่างไร
3.3 มีการบันทึกภาพและเสียงขณะตรวจค้นและจับกุมรัชฎาหรือไม่ หากมี ได้มีการเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ และผู้ใดเป็นผู้เผยแพร่ และเป็นการกระทำที่ขัดต่อประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 29 ความลับ ข้อ 1 หรือไม่ อย่างไร
- นอกจากการจับกุม รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา พร้อมยึดของกลางเป็นเงินสด 98,000 บาท ตามสำเนาบันทึกการจับกุมที่แนบมาพร้อมนี้ ได้ตรวจยึดของกลางอื่นๆ จากโจทก์ในวันดังกล่าวได้อีกหรือไม่ อย่างไร
ให้เลื่อนไปนัดสอบข้อเท็จจริงจากโจทก์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เวลา 09.30 น. และให้นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 30 มีนาคม เวลา 09.30 น.
ด้าน วราชันย์ เชื้อบ้านเกาะ ทนายความของรัชฎา กล่าวว่า ทนายได้เตรียมแก้คำฟ้องตามคำสั่งของศาล และจะยื่นฟ้องใหม่ให้ทันตามกรอบเวลาที่ศาลกำหนด และรัชฎาจะมาไต่สวนที่ศาลด้วยตัวเองในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมยังยืนยันว่าการเข้าตรวจค้นจับกุมของเจ้าหน้าที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ต้องมาฟ้องให้ศาลดำเนินคดีตามข้อหาดังกล่าว
สาเหตุของการเข้าจับกุมของตำรวจ และ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ในครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจากการร้องให้ตรวจสอบกรณีที่ชัยวัฒน์ เมื่อสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยเมื่อปี 2555 มีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อนำไปทำโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 4,200 ไร่ ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มูลค่ากว่า 14 ล้านบาท แต่ไม่มีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว จึงร้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบ ซึ่งทาง ป.ป.ท. ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตรวจสอบ กระทรวงจึงดำเนินการต่อ แต่เมื่อชัยวัฒน์เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ คดีได้ส่งมาถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาชี้มูลความผิด ซึ่งกำลังจะหมดอายุความในเดือนมีนาคม 2566
วราชันย์กล่าวต่ออีกว่า โครงการนี้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเป็น 3 งวด โดยงวดแรกได้เบิกไปในวันที่ 29 มีนาคม 2556 แต่โครงการดังกล่าวไม่มีการปลูกป่าจริง ทำให้กระทรวงฯ ได้รับความเสียหาย ซึ่งตัวแทนกระทรวงฯ จะไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนท้องที่รับผิดชอบในจังหวัดเพชรบุรีต่อไป โดยขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างรอการลงนามจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เป็นต้นเหตุทำให้ชัยวัฒน์ไปร่วมกับตำรวจ บก.ปปป. วางแผนล่อซื้อให้เข้าจับรัชฎา จนทำให้เกิดความเสียหาย
วราชันย์กล่าวด้วยว่า เตรียมยื่นฟ้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. เพิ่มเติมอีก 1 สำนวน เนื่องจากเข้าข่ายความผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นกัน ส่วนกรณีที่รัชฎาอ้างว่าเงินที่ได้รับจากหน่วยงานในสังกัดเป็นการนำไปสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 จำลอง เพื่อหาเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือข้าราชการสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯ นั้น วราชันย์ยืนยันว่าข้อมูลในส่วนดังกล่าวยังไม่ขอเปิดเผย เนื่องจากเป็นข้อมูลในการใช้ต่อสู้ทางคดี