วันนี้ (28 มีนาคม) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีม็อบ REDEM หมายเลขดำ อ.1423/2564 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้อง ร่อซีกีน นิยมเดชา, ชาติชาย แกดำ (จำเลยที่ 15) กับพวกรวม 15 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ
โดยอัยการระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 เวลากลางวัน ได้มีการร่วมชุมนุมกลุ่ม REDEM จากการเชิญชวนของผู้ใช้เฟซบุ๊กกลุ่มเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH ให้มาชุมนุมที่ศาลอาญา ประมาณ 300-500 คน โดยนำรถยนต์ติดตั้งขยายเสียง โจมตี เรียกร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกรวม 7 คน ฐานดูหมิ่นสถาบันฯ โดยพวกจำเลยได้กล่าวโจมตีการทำงาน ดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษา ย้ายแท่นแบริเออร์บริเวณเกาะกลางถนนเพื่อเปิดจุดกลับรถหน้าศาลอาญา แล้วชุมนุมจนเต็มพื้นที่ถนน ใช้ไข่ไก่ มะเขือเทศ ของเหลวสีแดง สาดใส่ป้ายสำนักงานศาลยุติธรรม และป้ายศาลอาญาเปรอะเปื้อน
นอกจากนี้จำเลยที่ 1-2 กับพวกรวม 50 คน ได้เดินข้ามถนนไปบริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 32 ต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ใช้หนังสติ๊ก ลูกแก้ว อุปกรณ์โลหะ ประทัดยักษ์ ขว้างเข้าใส่ รวมทั้งผู้ชุมนุมใช้ท่อนไม้ หิน ขวดโซดา ขวดแก้วใส่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีเศษผ้า ขว้างปาใส่รถเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขับติดตามมา 4 คันได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 983,200 บาท และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลอีก 4 คันได้รับความเสียหาย จึงขอให้ลงโทษพวกจำเลยตามความผิดด้วย
ศาลอาญาพิจารณาพยานหลักฐานแล้ว ในส่วนของจำเลยที่ 1, 2 พยานโจทก์ที่นำสืบมามีความสงสัยตามสมควร จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1, 2 ในส่วนของจำเลย 3-15 พยานหลักฐานรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลย 3-15 กับพวกเป็นความผิดตามฟ้อง ยกเว้นความผิดฐานไม่ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง และฐานไม่ขออนุญาตจัดการชุมนุม เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลย 3-15 เป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุม
ส่วนที่จำเลยที่ 3-15 นำสืบอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้น แม้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมไว้ก็ตาม แต่ต้องไม่กระทบสิทธิหรือเป็นการละเมิดต่อบุคคล เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในระหว่างการชุมนุมของจำเลยที่ 3-15 กับพวก มีการใช้กำลังประทุษร้าย และเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ด่าทอ ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น จึงมิใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่จำเลยที่ 3-15 อ้างว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และการกำหนดเงื่อนไขอย่างใดในแต่ละคดีเป็นการใช้ดุลพินิจโดยอิสระขององค์คณะผู้พิพากษาตามกฎหมาย ข้ออ้างดังกล่าวฟังไม่ขึ้น พิพากษาว่า จำเลย 3-15 มีความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำความผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ กับฐานขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุม และฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุม อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ 3-15 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท จำเลยที่ 15 จำคุก 1 ปี, ฐานร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี จำคุกจำเลยที่ 3-14 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท จำเลยที่ 15 จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันเดินเป็นขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 300 บาท และฐานร่วมกันเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครก หรือสิ่งอื่นใดลงบนถนน ปรับคนละ 3,000 บาท
การนำสืบของจำเลยที่ 15 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกระทงละหนึ่งในสาม รวมจำคุกจำเลยที่ 3-14 คนละ 3 ปี และปรับคนละ 33,000 บาท, จำคุกจำเลยที่ 15 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน และปรับ 2,200 บาท, ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2-14 ไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมประพฤติ กับให้จำเลยที่ 3-14 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ยกฟ้องจำเลยที่ 1, 2