วันนี้ (21 กุมภาพันธ์) ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีการเสียชีวิตของ พล.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม กับลูกน้อง ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 และ นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ. ร่มเกล้า ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สุขเสก หรือ เสก พลตื้อ, พรกมล บัวฉัตรขาว หรือ กนกพร ศิริพรรณาภิรัตน์ อดีตผู้ดำเนินรายการทีวี สถานีประชาชน ช่องเอเชียอัปเดต และ สุรชัย หรือ หรั่ง เทวรัตน์ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าและสนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่นฯ, พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ
โดยโจทก์ฟ้องระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า ระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 – 20 พฤษภาคม 2553 กลุ่ม นปช. ได้ร่วมกันชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อขับไล่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ลาออกจากตำแหน่ง
จนวันที่ 7 เมษายน 2553 อภิสิทธิ์ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร และออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่แยกคอกวัวมุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
กระทั่งวันที่ 10 เมษายน 2553 จำเลยที่ 1 และ 3 กับพวกร่วมกันมีลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ M67 คนละ 3 ลูก ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงิน และจัดหาระเบิดให้ โดยพวกจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้อื่นด้วยการขว้างระเบิดสังหาร 2 ลูกใส่เจ้าหน้าที่ทหารขณะปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ เป็นเหตุให้ พล.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รอ. (ขณะนั้น) กับนายทหารรวม 5 นาย เสียชีวิต และมีนายทหารอีกหลายนายได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยพวกจำเลยให้การปฏิเสธ
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ด้วยเหตุคำเบิกความพยานโจทก์มีข้อพิรุธ ประจักษ์พยานโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้และศาลพิจารณาคำฟ้องจำเลยเปรียบเทียบกับคดี นปช. ก่อการร้าย ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกัน มูลเหตุช่วงเวลาเดียวกัน ถือเป็นการฟ้องซ้อน พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1-3
สำหรับฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันนี้ จำเลยที่ 1-2 เดินทางมาศาลพร้อม วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ส่วนจำเลยที่ 3 ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำ (คดีอื่น)
ภายหลังฟังคำพิพากษา วิญญัติเปิดเผยว่า วันนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน โดยศาลวินิจฉัยประเด็นแรกว่า ฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1-3 คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดี นปช. ก่อการร้าย หรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่า บทบัญญัติเรื่องฟ้องซ้อนในคดีอาญาไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องนำประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยเรื่องฟ้องซ้อน มาตรา 173 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ที่ห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น โดยคดีนั้นโจทก์ได้บรรยายฟ้องคดีทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อน ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นฟ้องซ้อน ของศาลชั้นต้นนั้นชอบแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และ 3
วิญญัติกล่าวต่อไปว่า ยังมีประเด็นที่อุทธรณ์โจทก์และโจทก์ร่วมข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 และ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ คดีจึงมีข้อที่ศาลต้องพิจารณาก่อนว่าจำเลยที่ 1 และ 3 ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของพยานที่อ้างว่ามีลูกระเบิดอยู่ในกระเป๋า และเห็นจำเลยที่ 1 และ 3 หยิบสิ่งของออกจากกระเป๋าที่ข้างเต็นท์ ข้อนำสืบของพยานที่อ้างว่า เห็นจำเลย 1, 3 หยิบสิ่งของออกจากกระเป๋าสะพาย ต่อมาทราบว่าเป็นลูกระเบิด M67 จึงเป็นข้อกล่าวอ้างในชั้นพิจารณาโดยไม่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน ซึ่งคำให้การพยาน 2 ปากดังกล่าวกลับยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และ 3 มีลูกระเบิด M67 ติดตัวคนละ 3 ลูก โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยนำลูกระเบิดติดตัวมาจากที่ใด
และศาลยังมองว่า ทราบได้อย่างไรว่าจำเลยมีลูกระเบิด M67 ติดตัวคนละ 3 ลูก ข้อนำสืบของพยานไม่สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวน ซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญ อีกทั้งพยานบางปากเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเพื่อสนับสนุนพยานหลักฐานโจทก์
ยังมีส่วนที่พยานให้การว่า จำเลยที่ 3 เล่าให้ฟังว่าอยู่ในเหตุการณ์ขว้างระเบิดใส่ทหารเท่านั้น และยังมีพยานพบจำเลยที่ 1 ถือและใช้อาวุธเครื่องยิงระเบิด M79 ยิงใส่ทหาร และกระสุน มีทิศทางมาจากฝั่งผู้ชุมนุม พยานหันไปมองวัตถุดังกล่าว และมีการระเบิดขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ด้านหน้าพยานล้มลง แต่ก็มีพยานปากนายทหารให้การว่า เห็นวัตถุสีดำกลิ้งมาจากฝั่งผู้ชุมนุม วัตถุดังกล่าวเกิดระเบิดขึ้น คำให้การชั้นสอบสวนจึงแตกต่างจากคำเบิกความที่อ้างว่าเป็นประจักษ์พยานที่อ้างว่าเห็นจำเลยที่ 1 ขว้างระเบิดออกมาจากบ้าน
ในข้อสาระสำคัญ ย่อมทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีข้อพิรุธน่าสงสัยอยู่ตามสมควร พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักไม่เพียงพอให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1, 3 กระทำผิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ากระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจเป็นผู้สนับสนุน ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ศาลจึงพิพากษายืนยกฟ้อง