×

ศาลอาญายกคำร้องสั่งปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ Voice TV ยืนยันเสรีภาพสื่อ รวมถึง 3 สำนัก ทนายชี้ดีอีเอสข้ามขั้นตอน

โดย THE STANDARD TEAM
21.10.2020
  • LOADING...

วันนี้ (21 ตุลาคม) ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ขอให้ระงับหรือปิดช่องทางการเผยแพร่ของสื่อ Voice TV ในทุกช่องทางออนไลน์ เนื่องจากเจตนารมณ์ของกฎหมายคุ้มครองเรื่องการแสดงออกทางความคิดเห็น มิใช่มุ่งประสงค์ปิดช่องทาง ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 35 และ 36 บัญญัติว่าห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร โดยการตีความการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้นต้องให้สอดคล้องกับบทรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย เจตนารมณ์กฎหมายจึงย่อมมุ่งหมายให้ศาลห้ามเฉพาะข้อมูลและข้อความที่เป็นความผิดเท่านั้น

 

และให้ยกเลิกคำสั่งเดิมของศาลที่เคยสั่งระงับช่องทางการเผยแพร่ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ร้องให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นการขอปิดสื่อทั้งช่องทาง ทำให้ศาลไม่รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้อง และเข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่คัดนำเสนอต่อศาล 

 

สำหรับเนื้อหาคำสั่งมีรายละเอียดระบุว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 35 วรรคสอง บัญญัติห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร มาตรา 36 วรรคหนึ่ง บัญญัติรับรองเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกัน การตีความพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 ก็ดี พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (3) ก็ดี จึงต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว

 

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 ให้อำนาจศาลระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ และมาตรา 3 ของพระราชบัญญัตินี้ระบุว่า ‘ข้อมูลคอมพิวเตอร์’ หมายถึงข้อมูล ข้อความในระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเจตนารมณ์ของกฎหมายย่อมมุ่งหมายที่จะให้ศาลห้ามโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งข้อมูลที่เป็นความผิดตามมาตรา 20 (1-3) โดยเฉพาะเจาะจงเป็นข้อความส่วนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (3) ห้ามการเสนอข่าวที่มีข้อความทำให้ประชาชนหวาดกลัวนั้น กฎหมายประสงค์ให้ห้ามเป็นการเฉพาะข่าวหรือข้อความเช่นเดียวกัน

 

ซึ่งเป็นการห้ามเข้าถึงข้อมูลหรือข้อความที่มีการนำเสนอปรากฏต่อศาลในปัจจุบันแล้วว่าขัดต่อกฎหมาย กฎหมายหาได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลมีคำสั่งปิดช่องทางการสื่อสารของบุคคลหรือสื่อสารมวลชนทั้งช่องทาง ซึ่งมีผลการนำเสนอข้อความในอนาคตที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดด้วย

 

ส่วนความขัดข้องในเรื่องการปิดกั้นการเข้าถึงทางเทคนิคนั้นเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี ไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงหลักกฎหมาย ดังนั้นการที่ศาลมีคำสั่งระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามยูอาร์แอลทั้ง 12 รายการ ซึ่งเป็นการปิดช่องทางการสื่อสารของสถานีโทรทัศน์ Voice TV, สำนักพิมพ์ประชาไท, The Reporters, THE STANDARD หรือของกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free YOUTH 

 

โดยเหตุที่ผู้ร้องไม่ได้แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นการขอให้ปิดสื่อทั้งช่องทาง ทำให้ศาลมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้อง เข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่คัดมานำเสนอต่อศาล คำสั่งศาลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง

 

จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งศาลที่ให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีนี้ ยกคำร้อง

 

ขณะที่ วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ เปิดเผยหลังจากศาลมีคำสั่งยกคำร้องของดีอีเอส และยกเลิกคำสั่งที่เคยสั่งระงับช่องทางการเผยแพร่ ซึ่งการจะทำได้ต้องมีการเฉพาะเจาะจง ไม่ใช่เป็นการปิดทั้งยูอาร์แอล เนื่องจากเกินกว่าที่กฎหมายคุ้มครอง โดยช่องทางใดนำเสนออะไรก็ผิดแค่ส่วนนั้น ไม่ได้ผิดทั้งสื่อ ซึ่งศาลยืนหยัดถึงเสรีภาพสื่อและเสรีภาพสื่อมวลชน

 

ทั้งนี้ วิญญัติยังบอกด้วยว่าในการไต่สวนได้มีการยกเรื่องการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ขึ้นมาก่อน ซึ่งกระทรวงดีอีเอสอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการและเห็นว่าเป็นการข้ามขั้นตอน ฉะนั้นการมีคำสั่งระงับการเผยแพร่ของสื่อในช่วง พ.ร.ก. ฉุกเฉินถือว่าเป็นการขู่สื่อและขู่ประชาชน ซึ่งรัฐควรดำเนินการตามความเหมาะสม

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising