วันนี้ (4 ตุลาคม) ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ ที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เป็นโจทก์ฟ้อง ดร.เสรี วงษ์มณฑา และ วุฒินันท์ นาฮิม สองผู้ดำเนินรายการร่วมกัน เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่น
โจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 จำเลยทั้งสองได้ร่วมพูดคุยกันในรายการ เปิดเนตร หัวข้อ ‘เป้าประสงค์ชัด ธนาธรอยากเป็นมากกว่านายกฯ’ เผยแพร่ทางเว็บไซต์และยูทูบ ซึ่งเป็นการใส่ความให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่า โจทก์กล่าววาจาจาบจ้วงสถาบันฯ เบื้องสูง มีเจตนาแสดงความอาฆาตมาดร้าย และต้องการล้มล้างสถาบันฯ เพราะเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายของโจทก์ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์เสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ประกอบมาตรา 83 ให้จำเลยลบหรือหยุดเผยแพร่โพสต์ และ/หรือบันทึกภาพเคลื่อนไหวที่มีการหมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งจำเลยได้รับการประกันตัววงเงิน 1 หมื่นบาท
ในวันนี้ ดร.เสรี วงษ์มณฑา และ วุฒินันท์ นาฮิม จำเลยที่ 1-2 พร้อมทนายความมาที่ศาล ขณะที่โจทก์และทนายความทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาตามมาตรา 326 และ 328 แล้ว แต่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำหรือไม่
เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนที่จำเลยทั้งสองจะหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ธนาธร ผู้เป็นโจทก์ ได้แสดงออกซึ่งพฤติกรรมให้ปรากฏต่อสาธารณะ โดยเคยให้สัมภาษณ์ทางสื่อต่างๆ ร่วมเสวนา และยังโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถาบันฯ ในทำนองว่า การให้สถาบันฯ อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีการปฏิรูปสถาบันฯ เพื่อให้อยู่เหนือการเมือง อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อำนาจบทบาทของสถาบันฯ ต้องสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ปฏิรูปเพื่อให้สถาบันฯ ดำรงอยู่คู่สังคมประชาธิปไตย และโจทก์เคยเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
นอกจากนี้ เมื่อโจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี สภาผู้แทนราษฎร โจทก์เคยอภิปรายเกี่ยวกับงบประมาณในหน่วยงานส่วนพระองค์ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของโจทก์ที่แสดงออกผ่านทางตัวโจทก์ และสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย และทำให้ประชาชนคิดไปได้ว่า เหตุใดโจทก์ซึ่งเคยเป็น สส. และเป็นบุคคลสาธารณะถึงต้องการปฏิรูปสถาบันฯ อันเป็นสถาบันสูงสุดของประเทศ
ซึ่งเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับการพูดคุยในรายการของจำเลยทั้งสอง เป็นเพียงการนำข้อมูลของโจทก์ที่ปรากฏทางสื่อออนไลน์ การอภิปรายของโจทก์ในที่ต่างๆ และหนังสือของโจทก์ มาวิเคราะห์การกระทำ ซึ่งมีลักษณะส่อไปในทางที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันฯ เพื่อให้ประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันทราบถึงข้อมูลและพฤติกรรมของโจทก์
จึงนับว่าการกระทำของจำเลยเป็นแต่เพียงการจัดรายการในฐานะสื่อมวลชนและประชาชนคนหนึ่ง วิเคราะห์ข้อมูลไปตามเนื้อข่าวที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ เป็นการแสดงความคิดเห็นเพื่อสื่อสารถึงการกระทำของโจทก์ไปยังประชาชนที่เคารพสถาบันฯ เท่านั้น ถ้อยคำและข้อความที่จำเลยทั้งสองหมิ่นประมาทโจทก์จึงเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น หรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยซึ่งบุคคลหรือประชาชนย่อมกระทำได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) พิพากษายกฟ้อง
ภายหลัง ดร.เสรี ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกดีใจและขอบคุณศาลที่พิพากษายกฟ้อง ซึ่งตนมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย ความจริงแล้วคดีนี้ศาลได้ดำเนินการสืบพยานและตัดสินอย่างรวดเร็ว และไม่มีความกังวลใจอะไร เพราะเรารู้ว่าทำอะไร และเราเป็นสื่อมวลชน วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต และเราจัดรายการไม่ได้กุข่าวขึ้นมา โดยเอาข่าวที่ปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ มาวิเคราะห์อยู่บนฐานของข้อเท็จจริง จึงไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าเป็นข่าวจริงหรือไม่ใช่ข่าวจริง
ทั้งนี้ ศาลยังให้เหตุผลว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อมวลชนเท่านั้น แม้แต่ประชาชนที่เห็นพฤติกรรมของเขาแล้วไม่สบายใจ ก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้