ผู้อ่านที่ติดตามการรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างๆ ในสหรัฐฯ เป็นประจำอาจจะสังเกตได้ว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีการรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมรุนแรงมากขึ้นในมหานครขนาดใหญ่หลายเมืองๆ เช่น ที่เมืองซานฟรานซิสโกในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และชิคาโกในมลรัฐอิลลินอยส์ ในบทความนี้เราจะไปสำรวจถึงข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานของรัฐว่าสิ่งที่สื่อมวลชนรายงานนั้นตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมากน้อยแค่ไหน รวมถึงผลกระทบทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นกับรัฐบาลของ โจ ไบเดน
สหรัฐอเมริกาปลอดภัยขึ้นตั้งแต่ยุค 90
ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นประสบปัญหาอาชญากรรมอย่างมากในช่วงยุคปี 70 จนถึงต้นยุค 90 แต่หลังจากนั้นอัตราการก่ออาชญากรรมโดยเฉพาะการฆาตกรรมก็ลดลงมาอย่างรวดเร็วในช่วงกลางยุค 90 ตามสถิติที่เก็บโดยสำนักงานสอบสวนกลาง หรือ FBI ซึ่งก็เป็นผลมาจากนโยบายประกาศสงครามกับอาชญากรรมและยาเสพติดที่ใช้กันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน, จอร์จ บุช ผู้พ่อจนมาถึง บิล คลินตัน ซึ่งในยุคของสามประธานาธิบดีที่กล่าวมามีการเพิ่มงบประมาณให้ตำรวจ เพิ่มกำลงพล รวมทั้งออกไกด์ไลน์ให้ศาลออกบทลงโทษให้หนักขึ้นกับอาชญากรที่ถูกจับได้
อัตราการก่ออาชญากรรมนั้นลดลงมาอย่างต่อเนื่องจากยุค 90 จนมาถึงช่วงยุคการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อัตราการก่ออาชญากรรมเริ่มกลับขึ้นมาสูงขึ้นอีกครั้ง (โดยเฉพาะการฆาตกรรม) แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เพียงแค่ประมาณครึ่งเดียวของตัวเลขที่เราเคยเห็นในยุคก่อนปี 90
แต่ชาวอเมริกันกลับไม่ได้รู้สึกแบบนั้น
ถึงแม้ว่าสถิติจะบอกเราว่าอัตราการก่ออาชญากรรมนั้นลดลง แต่ชาวอเมริกันกลับไม่ได้รู้สึกแบบนั้น จากผลการสำรวจของสำนักโพลอย่าง Gallup พบว่า เกินกว่าครึ่งชาวอเมริกันคิดว่าอัตราการก่ออาชญากรรมของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีก่อน โดยตลอดตั้งแต่ที่ Gallup ได้เริ่มถามคำถามนี้ในยุคปลายปี 80 จะมีก็เพียงช่วงยุคปี 90 กลางๆ ในสมัยของคลินตันที่อัตราการก่ออาชญากรรมลดลงมากจริงๆ จนทำให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ตอบ Gallup ว่าอัตราการก่ออาชญากรรมนั้นลดลง
ซึ่งคำอธิบายในเรื่องนั้นน่าจะเกิดจากเหตุผลหลักๆ สองอย่าง อย่างแรกคือการรายงานข่าวของสื่อมวลชน แน่นอนว่าสื่อย่อมต้องการหาข่าวที่ขายได้ไปนำเสนอ และข่าวอาชญากรรมไม่ว่าจะเป็นการจี้ปล้นหรือฆาตกรรมย่อมเป็นข่าวที่ขายได้ ทำให้การรายงานข่าวอาชญากรรมของหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ท้องถิ่นมีความถี่ที่ไม่ลดลงไปจากเดิมเลยแม้ตัวอาชญากรรมจริงๆ จะลดลง (จากการเก็บสถิติของนักวิจัยหลายมหาวิทยาลัย)
ปัจจัยที่สองคือเรื่องของการเมือง เนื่องจากปัญหาอาชญากรรมเป็นประเด็นแหลมคมทางการเมือง และเป็นประเด็นที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่มองว่าพรรครีพับลิกันจัดการกับปัญหาอาชญากรรมได้ดีกว่า พวกเขามองว่าพรรคเดโมแครตเป็นพวกเหยาะแหยะ ไม่เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามอาชญากรรมด้วยความที่กลัวจะไปกระทบกับความนิยมของฐานเสียงของพวกเขา ซึ่งก็คือคนผิวสีในเมือง ทำให้พรรครีพับลิกันถือเอาประเด็นนี้มาเป็นประเด็นโจมตีพรรคเดโมแครตแทบจะทุกการเลือกตั้ง และก็เหมือนเป็นการย้ำเข้าไปในสำนึกของชาวอเมริกันทุกๆ สองปีว่า ประเทศยังประสบกับปัญหาวิกฤตจากอาชญากรรมอยู่
ไบเดนเป็นฝ่ายตั้งรับ
ภาพลักษณ์ของพรรคเดโมแครตในเรื่องการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมนั้นแย่ลงอย่างมาก นับตั้งแต่มีการประท้วงที่นำโดยกลุ่ม Black Lives Matter ภายหลังการเสียชีวิตของชายผิวสีอย่าง จอร์จ ฟลอยด์ จากการกระทำทารุณกรรมโดยตำรวจผิวขาว ซึ่งผลของการประท้วงในครั้งนั้นทำให้ฝ่ายซ้ายจัดในพรรคเดโมแครตเกิดแนวคิดที่จะตัดงบประมาณและกำลังพลของตำรวจเพื่อที่จะลดปัญหาการใช้ความรุนแรงโดยตำรวจ (ที่เรียกว่า Defund The Police) ซึ่งก็แน่นอนว่าแนวคิดเช่นนี้ย่อมไม่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวอเมริกันทั่วไปที่ยังมีความกังวลกับปัญหาอาชญากรรมอยู่ตลอดเวลา และพรรครีพับลิกันก็ได้ใช้ประเด็นนี้มาโจมตีพรรคเดโมแครตตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2020 เป็นต้นมา ซึ่งก็แน่นอนว่าผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตอย่างไบเดนก็ย่อมจะโดนโจมตีไปด้วย ถึงแม้ว่าไบเดนเองจะพูดอย่างชัดเจนอยู่ตลอดเวลาว่าเขาไม่สนับสนุนนโยบายนี้ ในทางตรงข้าม นโยบายด้านความปลอดภัยของเขา (Safer American Plan) เสนอให้มีการจ้างตำรวจทั่วประเทศเพิ่มอีกหนึ่งแสนนายดัวยซ้ำ
อย่างไรก็ดี ด้วยอัตราการฆาตกรรมที่สูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงยุคการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ทำให้การโจมตีของพรรครีพับลิกันดูเหมือนจะได้ผล ในผลการสำรวจรอบล่าสุดของ Gallup พบว่าชาวอเมริกันถึง 78% คิดว่าอัตราการก่ออาชญากรรมของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่ Gallup เคยสำรวจมาตั้งแต่ยุคคลินตัน ซึ่งก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่าคะแนนนิยมในด้านการจัดการอาชญากรรม (Job Approval Rating) ของไบเดนจะตกไปอยู่แค่ที่ 30% ต้นๆ เท่านั้น
ภาพ: Wiktor Szymanowicz / Future Publishing via Getty Images