วานนี้ (25 กรกฎาคม) หน่วยงานท้องถิ่นมณฑลเจียงซีทางตะวันออกของจีน เผยว่าคณะนักโบราณคดีในเจียงซีเสร็จสิ้นการทำความสะอาดฟอสซิลไดโนเสาร์ น้ำหนัก 8 ตัน ซึ่งค้นพบบริเวณสถานที่ก่อสร้างในเมืองก้านโจว เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หานเฟิงลู่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (อู่ฮั่น) และหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่าฟอสซิลเหล่านี้ถูกระบุในเบื้องต้นว่าเป็นของไดโนเสาร์กลุ่มฮาโดรซอริเด หรือไดโนเสาร์ปากเป็ด (Duck-billed Dinosaurs) โดยตัวฟอสซิลประกอบด้วยชิ้นส่วนของกะโหลกศีรษะ ฟัน กระดูกสันหลัง กระดูกแขนขา และซี่โครง เหล่าผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าฟอสซิลกระดูกดังกล่าวมาจากไดโนเสาร์อย่างน้อย 3 ตัว หากพิจารณาตามตำแหน่งและขนาดของพวกมัน
หานเผยว่า ก่อนหน้านี้ฟอสซิลของตัวอ่อนไดโนเสาร์ปากเป็ดเคยถูกพบในก้านโจวมาแล้ว ทว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการศึกษารายละเอียดวิวัฒนาการฟอสซิลของไดโนเสาร์โตเต็มวัย การค้นพบครั้งนี้จึงมีคุณค่าด้านการวิจัยอย่างมาก เนื่องจากช่วยให้เข้าใจวิวัฒนาการ และการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคของไดโนเสาร์ปากเป็ดช่วงปลายยุคครีเทเชียส
คณะนักโบราณคดีค้นพบและตั้งชื่อไดโนเสาร์ในก้านโจว จำนวนรวม 9 สายพันธุ์แล้ว และก้านโจวถือเป็นพื้นที่ที่มีฟอสซิลตัวอ่อนไดโนเสาร์จำนวนมากแห่งเดียวของโลกจนถึงขณะนี้
ทั้งนี้ ยุคครีเทเชียสเริ่มต้นเมื่อ 145 ล้านปีก่อน และสิ้นสุดเมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว โดยข้อมูลจากฟอสซิลที่มีอยู่บ่งชี้ว่า ไดโนเสาร์ในก้านโจวส่วนใหญ่อาศัยอยู่ช่วงปลายยุคครีเทเชียส ซึ่งใกล้เคียงกับวันที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เป็นอย่างมาก
ด้าน หวังเสี่ยวหลิน นักวิจัยจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล (IVPP) สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (CAS) เผยว่า การศึกษาฟอสซิลไดโนเสาร์และไข่ไดโนเสาร์ในก้านโจว อาจช่วยให้เราเข้าใจการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 5 บนโลกมากขึ้น
พิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาจีนระบุว่า จีนได้ตั้งชื่อไดโนเสาร์ 338 สายพันธุ์ โดยพิจารณาจากฟอสซิลกระดูก เมื่อนับถึงเดือนเมษายน ซึ่งไดโนเสาร์จีนเหล่านี้อาศัยอยู่ในช่วงตั้งแต่ยุคจูราสสิกตอนต้น จนถึงยุคครีเทเชียสตอนปลาย
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว