หลังจากที่ Credit Suisse จัดทำรายงานเกี่ยวกับ Supertrends เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2017 มาในปีนี้ บริษัทได้เผยแพร่ Supertrends 2022 ซึ่งระบุถึงเทรนด์ของธุรกิจที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มเทรนด์การลงทุน ได้แก่
- สังคมแห่งความวิตก (Anxious Society)
- โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
- เทคโนโลยี (Technology)
- ผู้สูงวัย (Silver Economy)
- ยุคมิลเลนเนียล (Millennials’ Values)
- การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change)
Michael Strobaek, Global Chief Investment Officer ของ Credit Suisse กล่าวว่า พวกเราออกแบบ Supertrends ให้อยู่นอกเหนือจากวัฏจักรทางธุรกิจเพื่อแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเลือกหุ้นเพื่อลงทุนระยะยาว แม้ว่าปัจจัยระยะสั้นบางอย่างอาจจะส่งผลบวกต่อบางเทรนด์มากกว่าเทรนด์ที่เหลือ แต่เราอยากให้นักลงทุนมองข้ามอารมณ์และความผันผวนในระยะสั้น
เทรนด์ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจได้แรงหนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในปี 2021 เนื่องจากรัฐบาลของแต่ละประเทศต่างหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ อย่างที่เราเห็นได้จากการประชุม COP26
ด้าน Nannette Hechler-Fayd’herbe, Head of Global Economics and Research ของ Credit Suisse กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญในระยะสั้นที่กระทบต่อการลงทุน อาทิ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิด Stagflation ในยุโรปโดยตรง แต่กระทบจำกัดต่อสหรัฐฯ และจีน รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
นอกจากนี้การที่เศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนจากภาวะเงินเฟ้อต่ำไปสู่เงินเฟ้อสูงมักจะส่งผลให้ผลตอบแทนที่แท้จริงลดลง ทั้งส่วนของการลงทุนในหุ้นและบอนด์
อย่างไรก็ตาม หากมองภาพการลงทุนในระยะยาว Credit Suisse เชื่อว่าบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับเทรนด์ทั้ง 6 ส่วนนี้ มีแนวโน้มจะเติบโตได้ในระยะยาว โดยมีรายละเอียดดังนี้
- สังคมแห่งความวิตก (Anxious Society) ปัจจุบันความกังวลของผู้คนเปลี่ยนจากเรื่องของโควิดมาเป็นเรื่องของปากท้องและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ส่วนนี้ทำให้ผู้คนจะยอมจ่ายมากขึ้นให้กับธุรกิจที่สามารถแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ โดยเฉพาะบริษัทที่นำเสนอทางออกที่ช่วยลดต้นทุนเกี่ยวกับความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย การศึกษา โดยเฉพาะในช่วงที่เงินเฟ้อกำลังซ้ำเติมให้ต้นทุนแพงขึ้น
- โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ในปี 2022 ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ จากการที่รัฐบาลของแต่ละประเทศได้เริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เช่น การขนส่ง พลังงาน เมืองอัจฉริยะ โทรคมนาคม และแม้ว่าเงินเฟ้อจะกระทบต่อธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ แต่หลายบริษัทที่ลงทุนด้านขนส่ง พลังงาน และโทรคมนาคม มีสัญญาที่สามารถปรับตามเงินเฟ้อได้
- เทคโนโลยี (Technology) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021 หุ้นเทคโนโลยีถูกให้มูลค่าใหม่สะท้อนเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นของโลก และด้วยการเติบโตสูงในช่วงโควิดไม่ได้เป็นสิ่งที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยียังมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น การมาของ Metaverse รวมไปถึงการลงทุนในดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในโลกเสมือน
- เศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) จำนวนของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็นกว่า 2 พันล้านคน ในปี 2050 การเปลี่ยนแปลงนี้จะก่อให้เกิดความต้องการเฉพาะทางในด้านเฮลท์แคร์ ประกัน และอสังหาริมทรัพย์ นอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพแล้ว เศรษฐกิจผู้สูงวัยยังส่งผลบวกต่อธุรกิจการเงิน ซึ่งจะได้ประโยชน์จากเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น
- ยุคมิลเลนเนียล (Millennials’ Values) กลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะผสมผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกในชีวิตจริงมากขึ้น และจากงานวิจัยล่าสุดพบว่า ผู้บริโภคยุคใหม่ยังคงให้ความสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และมีความต้องการที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ประเด็นเหล่านี้จะเป็นบวกต่อผู้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลในด้านต่างๆ เช่น การช้อปปิ้ง โฆษณา สื่อ
- การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในระยะสั้นส่งผลให้การพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลของโลกลดลง ปัจจัยนี้ส่งผลบวกต่อธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงธุรกิจที่กักเก็บพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ธุรกิจที่พัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับความยั่งยืนในการผลิตอาหารจะได้รับความสนใจมากขึ้น
นอกจากนี้ Credit Suisse ยังได้เปิดเผยถึง Supertrends ในเอเชีย โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- ความยั่งยืนในจีน จากเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2060 ส่งผลให้การเติบโตของกำลังการผลิตของพลังงานโซลาร์และพลังงานลมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องระหว่างปี 2021-2025 โดยคาดเติบโต 29% และ 8% ตามลำดับ นอกจากนี้จีนยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยคิดเป็น 40% ของยอดขายทั่วโลก
- การเติบโตของผู้บริโภคยุคมิลเลนเนียล โดยประเมินว่าแบรนด์ของสินค้าจีนจะได้รับความนิยมมากขึ้นต่อเนื่องจากปีเทรนด์การเติบโตที่ผ่านมา โดยส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 29% เมื่อปี 2013 มาเป็น 32-33% ในปี 2019 นอกจากนี้ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลในจีนมีจำนวนกว่า 400 ล้านคน คิดเป็น 29% ของประชากรโลก
- การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ ล่าสุดจีนประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะทยอยลงทุนในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ โดยครอบคลุมในหลายส่วน ได้แก่ ถนน ทางรถไฟ โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และสวนสนุก นอกจากนี้จีนยังได้ประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลตั้งแต่ปี 2020 ด้วยวงเงินลงทุนกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP