×

Credit Suisse เชื่อว่า เงินเฟ้อรอบนี้จะไม่นำไปสู่เศรษฐกิจถดถอยจากการผลิตอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว แต่มองหุ้นไทยแพงเมื่อเทียบกับตลาดอื่น

29.06.2022
  • LOADING...
Credit Suisse

จากงานสัมมนาของ Credit Suisse ภายใต้หัวข้อ ‘2H2022 Investment Outlook’ วันนี้ (29 มิถุนายน) ซึ่ง Credit Suisse มีมุมมองว่า 

 

ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ผลตอบแทนของสินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเห็นบ่อยนัก โดย John Woods Chief Investment Officer, Asia Pacific Credit Suisse กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นครั้งแรกในรอบ 20-30 ปีจากความกลัวที่ปกคลุมทั้งตลาด ไม่เว้นแม้แต่พันธบัตรรัฐบาล ขณะที่เดียวกันมีเพียงราคาน้ำมันและเงินสดเท่านั้นที่ปรับตัวขึ้นได้ 

 

เศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินถูกกดดันจากหลากหลายปัจจัย ทั้งนโยบายการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป เงินเฟ้อที่พุ่งสูงในรอบหลายทศวรรษ สงครามในยูเครน และปัญหาของห่วงโซ่อุปทาน 

 

อย่างไรก็ตาม CIO ของ Credit Suisse มองว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอย (Recession) ยังคงต่ำสำหรับ 12 เดือนข้างหน้านี้ และคาดหวังว่าจะเห็นการร่วมฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมมาช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลายลง 

 

สำหรับสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีความเสี่ยงจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น ยังคงมีแรงหนุนจากฐานะการเงินของบริษัทต่างๆ ที่ยังแข็งแกร่งเช่นเดียวกับภาคครัวเรือน

 

“ปัจจัยที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือ จุดพีคของเงินเฟ้อ หลังจากเงินพุ่งขึ้นมาสูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งเราคาดว่าเงินเฟ้อจะผ่านจุดพีคได้ในไตรมาส 3 หลังจากนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็วในปีหน้า” 

 

ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 3.5-3.75% ในช่วงสิ้นปีนี้ ส่วนแนวโน้มการเติบโตของ GDP โลกในปีนี้ คาดว่าจะเติบโต 3.5% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4% แต่การลดลงดังกล่าวไม่น่าจะนำไปสู่ภาวะ Stagflation ดังเช่นทศวรรษที่ 70 เนื่องจากธนาคารกลางปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างรวดเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดพลาดแบบที่เคยเกิดขึ้น

 

ในส่วนของตลาดหุ้น ช่วงครึ่งปีแรกเราเห็นดัชนี S&P500 ดิ่งลงประมาณ 23% ถือเป็นการเริ่มต้นครึ่งปีแรกที่แย่ที่สุดในรอบ 50-60 ปี นับแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในระยะถัดไปเรามองว่าตลาดหุ้นมีโอกาสจะฟื้นตัวได้ในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า ด้วยปัจจัยพื้นฐานของบริษัทต่างๆ ที่ยังสนับสนุน ไม่น่าจะเป็นแนวโน้มกำไรหรือระดับมูลค่าหุ้น

 

เช่นเดียวกับดัชนี Nasdaq ที่เข้าสู่โซนขายมากจนเกินไป (Oversold) ขณะที่หุ้นยุโรปตอนนี้ก็ลดลงมาอยู่ในระดับที่ถูกมากเช่นกัน อย่างกลุ่มธนาคารที่ปัจจุบันซื้อ-ขายในระดับ P/BV เพียง 0.7 เท่า 

 

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นจีนดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าจะฟื้นตัวได้โดดเด่นที่สุดหลังจากนี้ หลังจากที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด ช่วยให้เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวได้ดี รวมถึงการที่จีนยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสวนทางกับประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ทำให้ตลาดหุ้นจีนมีโอกาสจะเป็นตลาดที่โดดเด่นที่สุดในเอเชีย

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยดูเหมือนว่าราคาหุ้นค่อนข้างจะตอบรับไปมากแล้วสำหรับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แม้ว่านักท่องเที่ยวเพิ่งจะเริ่มกลับมาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กำไรของบริษัทต่างๆ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่หุ้นไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่แพงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เมื่อพิจารณาจากระดับ P/E โดยเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นเกิดใหม่อื่นๆ ทำให้เราประเมินว่าหุ้นไทยมีอัปไซด์ค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น 

 

“ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในอาเซียนเริ่มมี Sentiment เชิงบวกมากขึ้น และเห็นการฟื้นตัวได้ แต่เมื่อมองไปยัง Valuation แล้วจะเห็นว่ายังค่อนข้างสูง อย่างตลาดหุ้นไทยซื้อขายบน P/E 16-17 เท่า เทียบกับตลาดหุ้นจีนที่ซื้อขายบน P/E 12 เท่า ทำให้ช่วงครึ่งปีหลังจีนน่าจะเป็นตลาดที่โดดเด่นกว่าตลาดอื่นๆ ในเอเชีย”

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising