วันนี้ (12 ธันวาคม) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแถลงข่าว ‘จัดการหนี้ทั้งระบบ’ โดยหนึ่งในมาตรการแก้หนี้ครั้งนี้ที่ผู้คนให้ความสนใจ คือมาตรการลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลให้เหลือ 3-5% ต่อปี จากอัตราปัจจุบันที่ 16-25% ต่อปี และให้ระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 10 ปี
โดย กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ระบุว่า ผู้ถือบัตรเครดิตทุกรายกว่า 23 ล้านใบ มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการนี้ ‘ทุกใบ’
พร้อมทั้งเปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันมูลหนี้โดยรวมของบัตรเครดิตอยู่ที่ราว 5.4 แสนล้านบาท จากผู้ถือบัตรเครดิต 23.8 ล้านใบ โดยจำนวนนี้เป็นหนี้ที่มีโอกาสจะเป็นปัญหาอยู่ที่ราว 6.7 หมื่นล้านบาท จากผู้ถือบัตรเครดิต 1.1 ล้านใบ
กิตติรัตน์ยังเชิญชวนให้ผู้ที่กำลังมีปัญหาหนี้บัตรเครดิตอยู่เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ตั้งแต่บัดนี้ โดยลูกหนี้ที่ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการจะได้ลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือ 3-5% ต่อปี โดยมีระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 10 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่เท่าไรขึ้นอยู่กับขนาดของมูลหนี้และจำนวนปี
ลูกหนี้บัตรเครดิตที่ยังไม่เป็น SM หรือ NPL เข้าร่วมโครงการได้หรือไม่?
กิตติรัตน์ยังขยายความว่า ลูกหนี้บัตรเครดิต ‘ส่วนใหญ่’ เป็นผู้ที่ชำระหนี้ได้ดีไม่มีปัญหา หมายความว่า เมื่อครบเดือนจ่ายหนี้ได้เต็ม ก็จะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการ
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เริ่มจะมีปัญหา หรือกลุ่ม Special Mention Loan: SM ที่มีหนี้ซึ่งค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน แต่ยังไม่ถือว่ามีหนี้เสีย (NPL) แล้วจ่ายไม่ได้แม้กระทั่งขั้นต่ำ ซึ่งกำลังมีจำนวนมากขึ้น ควรติดต่อเจ้าหนี้
“กลุ่ม SM ยังมีข้อโต้แย้งอยู่นิดหนึ่ง คือบางบริษัทอาจบอกว่ายังไม่เป็นหนี้เสีย ให้สู้ต่อไปเถอะ แต่ถ้าเป็นผมก็จะให้ติดต่อเจ้าของบัตร เนื่องจากเห็นอยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในภาวะที่จ่ายไม่ไหวแล้ว จะรอให้กลายเป็นหนี้เสียก่อนหรืออย่างไร” กิตติรัตน์ระบุ
สำหรับส่วนต่างดอกเบี้ยที่ถูกปรับลดลง กิตติรัตน์ชี้แจงว่า ภาครัฐไม่จำเป็นต้องตั้งงบประมาณไปชดเชย แต่เจ้าหนี้บัตรเครดิตต่างๆ ยินดีจะลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าเอง เนื่องจากลูกค้าเหล่านี้ถือเป็นลูกค้าที่ดีมาโดยตลอดและสร้างรายได้ให้บริษัท ดังนั้นเมื่อถึงภาวะที่ลูกหนี้จ่ายไม่ไหว เจ้าหนี้จึงลดอัตราดอกเบี้ยให้