×

‘เครดิตบูโร’ ห่วงหนี้เสียทะลักหลังหมดมาตรการช่วยเหลือ มิ.ย. นี้ ประเมิน NPL อาจพุ่งแตะ 10%

11.04.2022
  • LOADING...
เครดิตบูโร

เครดิตบูโรห่วงหนี้เสียทะลักหลังมาตรการช่วยเหลือพิเศษหมดลงในเดือนมิถุนายน คาดตัวเลขอาจสูงถึง 10% หากบวกผลกระทบราคาพลังงานและอาหารแพง แนะเร่งให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เสียรหัส 21 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

 

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ภาพรวมหนี้เสีย หรือ NPL ในระบบธนาคารและนอนแบงก์ไทยจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในช่วงหลังจากเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป เนื่องจากในช่วงดังกล่าวมาตรการช่วยเหลือพิเศษต่างๆ ที่สถาบันการเงินมีให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจะทยอยหมดลง โดยจะเหลือเพียงแค่มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวหรือมาตรการฟ้าส้มของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เท่านั้น

 

“สาเหตุที่ NPL ของเราในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะเราแช่แข็งหนี้ ให้แบงก์ช่วย แน่นอนว่าเมื่อมาตรการปกป้องต่างๆ ถูกถอดปลั๊กกลับสู่โหมดปกติ เราจะได้เห็นภาพที่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น NPL จะเพิ่มขึ้นแน่ๆ ซึ่งหากนำผลกระทบเรื่องราคาพลังงานและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้มาคำนวณด้วย ปีนี้เราอาจได้เห็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 7% ในปัจจุบันไปสูงสุดได้ที่ 10%” สุรพลกล่าว

 

สุรพลระบุว่า สาเหตุที่ตัวเลข NPL ของเครดิตบูโรออกมาค่อนข้างสูง เนื่องจากบริษัทใช้วิธีคำนวณโดยยึดตามนิยามของ IMF คือคิดจากบัญชีที่ขาดการชำระหนี้เกิน 90 วัน ซึ่งจะต่างจากการคำนวณของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่หากสำรองเต็มและตัดหนี้ศูนย์แล้วจะไม่ต้องรายงานข้อมูลในส่วนนั้นได้ ขณะเดียวกันยังรวมเอาข้อมูลของลูกหนี้กลุ่มนอนแบงก์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าเข้ามาคำนวณด้วย

 

“ปัจจุบันเครดิตบูโรจัดเก็บข้อมูลหนี้อยู่ 12.7 ล้านล้านบาทจากภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทยที่ 14.3 ล้านล้านบาท มีเพียงหนี้ในส่วนของสหกรณ์ออมทรัพย์ราว 2 ล้านล้านบาทที่ไม่ได้อยู่กับเรา โดยเรามีสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกอยู่กว่าร้อยแห่ง ทำให้ภาพที่เราเห็นจะสะท้อนความเป็นจริงมากกว่า” สุรพลกล่าว

 

ผู้จัดการเครดิตบูโรอธิบายอีกว่า การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดของสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมาจะใช้วิธีการแขวนดอกเบี้ย ซึ่งมาตรฐานทางบัญชีไม่อนุญาตให้ทำได้ ตามหลักการแล้วสถาบันการเงินต้องตั้งสำรองหนี้ส่วนนี้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้บริษัทจัดอันดับเครดิต S&P ก็ได้เขียนเอาไว้ในรายงานการปรับลดความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ไทยเช่นกัน

 

“เมื่อธนาคารมีต้นทุนต้องสำรองจากการแขวนดอกเบี้ย สิ่งที่จะตามมาคือกลุ่มที่ไปต่อไม่ได้จริงๆ ก็จะกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งเราเริ่มเห็นสัญญาณนี้แล้วจากการรายงานตัวเลข NPL ช่วงปลายปี 2564 ของ ธกส. ที่เพิ่มขึ้นจาก 3.5-3.6% เป็น 6% และการที่หุ้นแบงก์เทรดต่ำกว่า Book Value ในช่วงที่ผ่านมา เพราะนักลงทุนรู้ว่าภาพหนี้เสียอาจยังไม่สะท้อนความจริง การช่วยเหลือถ้าทำไปนานๆ กลไกจะเพี้ยนได้” สุรพลกล่าว

 

สุรพลกล่าวว่า ต้นตอปัญหาหนี้ของไทยเกิดจากการที่ภาคครัวเรือนถูกกระตุ้นให้ก่อหนี้มาอย่างยาวนาน เนื่องจากสินเชื่อรายย่อยเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ทำให้สถาบันการเงินเข้ามาทำตลาด แข่งกันออกโปรโมชัน 0% กันมาก จนก่อให้เกิดภาวะกู้ก่อน กินก่อน เที่ยวก่อน ผ่อนทีหลัง ซึ่งสะท้อนได้จากสัดส่วนของหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่สูงถึง 27.7% ของหนี้ภาคครัวเรือนทั้งหมด

 

นอกจากนี้การจัดเก็บข้อมูลลูกหนี้สินเชื่อรายย่อยโดยแบ่งแยกตามอายุของเครดิตบูโรยังพบด้วยว่า กลุ่มคนที่ก่อหนี้สูงสุดคือ กลุ่ม Gen Y ที่ 4.5 ล้านล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่ม Gen X ที่ 3.8 ล้านล้านบาท และ Baby Boomer 1.1 ล้านล้านบาท 

 

“ถ้าเจาะลงไปดู NPL เราพบว่า หนี้เสียเกิดขึ้นมากในกลุ่มคนอายุน้อยและกระจุกอยู่ในสินเชื่อส่วนบุคคล ข้อมูลของเรายังพบอีกว่า ในกลุ่มคนอายุ 22 ปี มีถึง 24% เป็น NPL ใกล้เคียงกับคนอายุ 31 ปีที่ 1 ใน 4 เป็น NPL แม้กระทั่งคนอายุ 60 ปีก็มีถึง 15% ที่เป็น NPL โดยเฉลี่ยทั้งประเทศใน 100 คน จะมี 16 คนที่เป็น NPL ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่ากลัว” สุรพล กล่าว

 

สุรพลกล่าวว่า ปัจจุบันบัญชีหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือเป็น NPL จะถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโรภายใต้รหัส 20 และรหัส 21 โดยกลุ่มรหัส 20 คือหนี้เสียที่มีปัญหามาก่อนเกิดโควิด ขณะที่กลุ่มรหัส 21 เป็นหนี้เสียที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

 

ทั้งนี้ หากดูสถานะลูกหนี้ที่เป็น NPL ทั้งหมดบนฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ณ เดือนมกราคมที่ผ่านมาจำนวน 4.3 ล้านบัญชี จะแบ่งออกเป็นรหัส 20 จำนวน 1.7 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลค่าหนี้เสียรวม 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้ รหัส 21 มีอยู่ 2.3 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลค่าหนี้เสียราว 2 แสนล้านบาท

 

“ตัวเลขนี้สะท้อนว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โควิดได้ทำให้คนที่เคยจ่ายหนี้ได้ปกติต้องกลายเป็นหนี้เสียถึง 2.3 ล้านบัญชี คิดเป็นหนี้เสีย 2 แสนล้านบาท เฉลี่ยเป็นหนี้เสียต่อบัญชีที่ราว 8 หมื่นบาท ความเห็นของผมคือ เราต้องเร่งช่วยกลุ่มนี้ก่อน เพราะเขาไม่ได้อยากเป็น NPL เขาเคยจ่ายหนี้ดีมาตลอด แต่ตอนนี้กำลังจะหมดแรงหมดลมแล้ว ต้องเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ช่วย” สุรพลกล่าว

 

สุรพลประเมินว่า ภาพที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากเดือนมิถุนายนปีนี้คือ สถาบันการเงินจะเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและจะเกิดการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้อย่างอุตลุด ก่อนที่สถาบันการเงินจะกลับมาปล่อยสินเชื่อกันเต็มเหนี่ยวอีกครั้งในปี 2566 เนื่องจากวิธีลด NPL คือปรับโครงสร้างหนี้เสียให้กลับมาเป็นหนี้ดีและปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อให้ตัวหารเพิ่มขึ้น

 

“การปรับโครงสร้างหนี้จะเปรียบเสมือนการทำฝายชะลอน้ำล้น หนี้บางส่วนอาจถูกทำให้เป็นหนี้ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ หรือ Special Mention (SM) เพื่อให้ตัวเลขไม่ออกมาแย่นัก ดังนั้นถ้าอยากเห็นภาพกว้างของหนี้ที่มีปัญหาในระบบจริงๆ คงต้องนำ NPL, NPA และ SM มารวมกัน ซึ่งจะสะท้อนภาพได้ชัดเจนที่สุด” ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโรกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising