×

‘เครดิตบูโร’ ส่งหนังสือแจ้งแบงก์แยกลูกหนี้ NPL ที่โดนผลกระทบจากโควิด ใส่รหัสพิเศษ (21) เพื่อให้ความช่วยเหลือ

06.07.2021
  • LOADING...
เครดิตบูโร

หลังจากที่ภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม และสมาคมสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้เรียกร้องให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะการปลดล็อกให้ลูกหนี้ธุรกิจที่ติดเครดิตบูโรหรือเป็น NPL จากการแพร่ระบาดของโควิด ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากมาตรการเสริมสภาพคล่องต่างๆ ของภาครัฐ ล่าสุด บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมไว้แล้ว

 

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ขณะนี้เครดิตบูโรได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังสถาบันการเงินสมาชิกทั้งหมดกว่าหนึ่งร้อยแห่ง ให้ทำการคัดแยกลูกหนี้ที่มีการผิดนัดเกิน 90 วัน หรือบัญชี NPL ออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็น NPL ปกติ และกลุ่มที่เป็น NPL เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด โดยกลุ่มที่เป็น NPL จากวิกฤตโควิดจะถูกติดรหัส 21 แทนที่จะเป็น 20 ซึ่งเป็นรหัสเดิมของบัญชีที่เป็น NPL 

 

สำหรับการแยกบัญชี NPL ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดออกจากบัญชี NPL ทั่วไป การจะดูว่าได้รับผลกระทบจากโควิดหรือไม่คือ​จะดูประวัติการชำระหนี้ทุกบัญชีที่มีอยู่กับสถาบันการเงินย้อนหลังลงไป​ 12 เดือนนับจากเดือนธันวาคม​ 2562​ เช่น เดือนธันวาคม 2562​ ต้องไม่ค้าง​ เดือนพฤศจิกายน 2562 ต้องไม่ค้าง​ เดือนตุลาคม 2562 กรณีที่ลูกหนี้รายนั้นไม่เคยค้างชำระเลยในทุกบัญชีที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงิน ให้ถือเป็นรหัส 21

 

สุรพลระบุว่า การแยกบัญชีสินเชื่อของลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียเพราะผลกระทบจากโควิดจะช่วยให้ระบบการเงินเห็นภาพในเชิงข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นและมีเครื่องมือมาช่วยแยกแยะเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือ

 

“ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋ว​ย อึ๊งภากรณ์ ชี้ว่า นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นมา มีลูกค้าบุคคลที่ขอรับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินแล้วกว่า 6 ล้านราย โดยในจำนวนนี้มี 2 ล้านราย ที่มีความเสี่ยงจะประสบปัญหาการชำระหนี้เพิ่มเติม หากมีเครื่องมือมาช่วยคัดแยกก็จะช่วยให้เราสามารถคัดแยกปลาป่วยออกจากน้ำเพื่อเอาไปรักษาในตู้ปลาที่ใส่ยาแยกต่างหาก เพราะลูกหนี้เหล่านั้นคือผู้ประสบภัยทางเศรษฐกิจ” สุรพลกล่าว

 

สุรพลเปิดเผยว่า อันที่จริงแนวคิดเรื่องการคัดแยกลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียเพราะผลกระทบจากโควิดได้มีการพูดคุยกันตั้งแต่ในช่วงการระบาดระลอกแรกแล้ว แต่เนื่องจากในช่วงนั้นประเทศไทยยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีและมีตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่สูง ทำให้หลายฝ่ายยังมองว่าอาจไม่จำเป็น

 

“เมื่อมีการระบาดระลอกสอง เราก็กลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง ซึ่งผู้บริหารนโยบายในขณะนั้นได้ผลักดันให้มีการตั้งเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเพื่อส่งต่อให้เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ก็โชคร้ายที่ทีมเศรษฐกิจในเวลานั้นลาออกยกชุดก่อนเรื่องจะเข้า ครม. เพียงสองวัน ทำให้ต้องมาเริ่มกระบวนการใหม่จากล่างขึ้นบนกันอีกครั้ง กว่าที่ประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตในเรื่องนี้จะคลอดออกมาได้ก็ต้องรอถึงเดือนมิถุนายน 2564 เท่ากับเราเสียเวลาไปหนึ่งปี” สุรพลกล่าว

 

อย่างไรก็ดี สุรพลกล่าวว่า โดยส่วนตัวยังมองว่าการมีเครื่องมือมาช่วยแยกแยะเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น หากภาครัฐต้องการให้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ออกมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจะต้องปลดล็อกเรื่องสำคัญอีกสองเรื่อง

 

เรื่องแรกคือการปรับปรุงเงื่อนไขในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า การจะให้ความช่วยเหลือด้วยการใส่สภาพคล่องกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ลูกหนี้รายนั้น ‘ต้องยังพอมีศักยภาพ’ เพราะการจะพิจารณาว่าลูกค้ามีศักยภาพหรือไม่ในภาวะไม่ปกติเช่นในปัจจุบันนั้นทำได้ยาก

 

“ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางสาธารณสุขต้องเปิดๆ ปิดๆ หรือขายได้แค่กลับบ้าน จะไปบอกว่าเขาไม่มีศักยภาพมันจริงหรือไม่ เขาอาจจะพร้อมค้าขาย อยากสู้ต่อ เขามีฝีมือ แต่มีภาระลูกน้องลูกจ้างต้องดูแล เราจะเติมเงินให้กับคนกลุ่มนี้ได้หรือไม่ โดยส่วนตัวผมคิดว่าเงื่อนไขควรต้องเขียนใหม่ว่า ‘ให้สภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด’ เพราะหากไม่ผ่อนเกณฑ์ ก็คงไม่มีแบงก์ไหนกล้าปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มสีส้มและสีแดง ส่วนกลุ่มสีเขียว สีเหลือง ก็จะมีแค่กลุ่มส่งออกที่ธุรกิจไปได้ในช่วงนี้” สุรพลกล่าว

 

เรื่องที่สองคือเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของ ธปท. ที่ห้ามสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อที่เล็งเห็นได้ว่าจะไม่ได้รับการชำระหนี้คืน ซึ่งถูกห้ามไว้ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตการเงินปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน

 

“เงื่อนไขนี้อาจเป็นคำตอบที่ถูกในบริบทวันนั้น แต่ในสถานการณ์ ณ ตอนนี้ ที่ประชาชนและธุรกิจจำนวนมากต้องต่อสู่กับโควิด เราอาจต้องกลับมาทบทวนว่ายังมีเหมาะสมอยู่หรือไม่ ผมมองว่าท่ามกลางผู้คนเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นมาแล้วไม่มีทางที่เราจะได้ผลลัพธ์ที่ต่างและใหม่ด้วยการใช้กระบวนการเก่าและเดิม” สุรพลกล่าว

 

สุรพลกล่าวอีกว่า หากเงื่อนไขทั้งสองข้อนี้ไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข การปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องผ่านมาตรการซอฟต์โลนของ ธปท. จะทำได้ช้า เนื่องจากเงื่อนไขไม่เอื้อให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยกู้

 

“สถาบันการเงินก็เปรียบเหมือนเรือ เรือจะปลอดภัยเมื่อจอดอยู่ในฝั่งมีภูเขา ซึ่งเหมือนกติกาต่างๆ คอยเป็นแนวกันคลื่นลมให้ แต่เรือเองก็มีหน้าที่ออกทะเล ถ้าเห็นคนแพแตกลอยคอกันอยู่แล้วไม่ฝ่าคลื่นลมออกไปช่วย คนเหล่านั้นก็จะจมน้ำตาย แต่การจะให้เรือยอมเสี่ยงออกไปช่วยคน นายท่าหรือผู้กำกับดูแลจะต้องทำกติกาให้เอื้อด้วยเช่นกัน” สุรพลกล่าว

 

ทั้งนี้ ข้อมูล ธปท. พบว่า จนถึง ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2564 มียอดปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูอนุมัติแล้ว 50,948 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือ 16,811 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อราย ขณะที่มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนแล้ว 937.47 ล้านบาท จำนวนธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือ 10 ราย

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X