เครดิตบูโรเผย ‘หนี้ครัวเรือน’ ลดลงต่อเนื่องใน 1Q68 พบยอดปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (DR) พุ่ง 31.7% กั้นการไหลมาเป็น NPL ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) เผยสินเชื่อเดือนมีนาคม 2568 ลดลง 1.57%YoY ติดลบเป็นเดือนที่ 10
สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยรายงานภาวะหนี้สินครัวเรือนที่จัดเก็บข้อมูลในระบบเครดิตบูโร ไตรมาส 1/68 พบว่า สินเชื่อผู้บริโภคโดยรวมทั้งระบบ (Total Consumer Loan) อยู่ที่ 13.54 ล้านล้านบาท ลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) และลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นการลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติด
เปิด ‘หนี้ครัวเรือน’ ในฐานเครดิตบูโรย้อนหลัง
1Q67: 13.64 ล้านล้านบาท
2Q67: 13.63 ล้านล้านบาท
3Q67: 13.61 ล้านล้านบาท
4Q67: 13.62 ล้านล้านบาท
1Q68: 13.54 ล้านล้านบาท
สินเชื่อเดือนมีนาคม 2568 ติดลบเป็นเดือนที่ 10
การลดลงดังกล่าวยังสอดคล้องกับการรวบรวมข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) ที่ระบุว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ 17 แห่ง ในเดือนมีนาคม 2568 ลดลง 1.57%YoY ติดลบเป็นเดือนที่ 10 เหตุเผชิญแรงกดดันจากหลายปัจจัยลบ เช่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาคุณภาพหนี้ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามการค้า
ยอดปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (DR) พุ่ง 31.7% กั้นการไหลมาเป็น NPL
โดยหนี้ครัวเรือน 13.54 ล้านล้านบาท ในฐานข้อมูลเครดิตบูโรนี้ เป็นหนี้เสีย (NPL) ที่ค้างชำระเกิน 90 วันอยู่ 1.19 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% จากปีก่อนหน้า (YoY) แต่ลดลง 2.5% จากไตรมาสก่อน (QoQ)
ขณะที่หนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) หรือหนี้ที่ค้างชำระ 31-90 วัน ในไตรมาสแรกของปี 2568 อยู่ในระดับที่ 5.75 แสนล้านบาท ลดลง 10.8% จากปีก่อน (YoY) แต่เพิ่มขึ้น 1.1%QoQ
ยอดการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (Pre-emptive Debt Restructuring) ใน 1Q68 อยู่ที่ 1.12 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 31.7% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ขณะที่ยอดปรับโครงสร้างหนี้ หลังเป็นหนี้เสีย (Trouble Debt Restructure: TDR) มียอดคงค้าง 1.08 ล้านล้านบาทเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนก็อยู่ที่ 1.07ล้านล้านบาท YoY แทบไม่ขยับ
“การทำ DR หรือปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนไหลมาไปเป็น NPLs นั้นตอนนี้มาอยู่ที่ 1.12ล้านล้านบาทแล้ว ตัวเลขที่เพิ่ม QoQ เพิ่มสูงถึง 31.7% สิ่งนี้มันสะท้อนได้บ้างว่า คนเป็นหนี้ที่ไปไม่ไหว ผ่อนติดขัด เจ้าหนี้ถูกกติกาบังคับให้ต้องยื่นข้อเสนอให้ลูกหนี้ทำ DR ตัวเลขมันขึ้นเร็วมากจากการรายงานครั้งแรกเมื่อเมษายน 2567 เขื่อนยักษ์ DR มันจึงยกสูงกั้นการไหลมาเป็น NPLs อย่างที่เห็นกัน“ สุรพลระบุ
สุรพลกล่าวต่อว่า “ประเด็นเล็กๆ คือลูกหนี้ที่ทำ DR แล้วผ่อนได้ตามสัญญา DR เขาคือคนที่มีแผล รบกับหนี้แล้วไม่ค่อยชนะ เขาควรได้ยาสมานแผลช่วย “ยี่ห้อ คุณสู้ เราช่วย” เพราะเขาสู้ไงครับ เขาไม่ยอมแพ้จนไหลไปเป็น NPLs ทำไมเราไปมองว่าเขาผ่อนได้ดีแล้วจึงไม่ให้เขาเข้าร่วมโครงการคุณสู้ เราช่วย
อยากให้มีมือที่เมตตา ใจที่เป็นธรรม ลดลงมาช่วยกันตรงนี้ดีไหม มันรมณีย์กว่าการไปพูดเอาหล่อเอาสวยไหม เพราะตอนนี้โครงการที่ตั้งใจไว้มันยังห่างเป้าทั้งจำนวนราย จำนวนเงินไม่ใช่เหรอครับ เงินที่เตรียมมาช่วยก็เหลือบานนี่ครับ
จะเก็บถุงยังชีพ ห่วงยาง ยามเกิดภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากเวลานี้ เพื่อให้หนูแทะในโกดังเอาไว้รอเหตุแผ่นดินพิโรธในครั้งหน้า… เพราะอะไร (ถามเป็นชื่อเพลงของพี่ป้าง จะได้ดูสุภาพเรียบร้อย)“
สุรพลยังทิ้งท้ายว่า “การตัดสินใจไม่ทำอะไร, Kick the can down the road, No action talk only, มันคือนิยามของ Moral Hazard อย่างที่ท่านชอบพูดเหมือนกัน”