วันนี้ (20 มกราคม) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยผลการประชุมของ ศบค. ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม ระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณาขยายระยะเวลาประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ออกไปอีก 2 เดือน จากเดิมจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2565 ให้ขยับเพิ่มไปสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2565
นอกจากนี้ ยังพิจารณาการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งจากเดิมอยู่ในระดับสีส้ม 69 จังหวัด ถูกปรับเหลือ 44 จังหวัด หลังปรับ 25 จังหวัดจากสีส้มลดลงมาเป็นสีเหลือง ขณะที่พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวหรือพื้นที่สีฟ้าคงไว้ 8 จังหวัด และ 18 จังหวัดบางพื้นที่
โดย 25 จังหวัดถูกปรับเป็นพื้นที่สีเหลือง ประกอบด้วย กำแพงเพชร, ชัยนาท, ชัยภูมิ, นครพนม,นครสวรรค์, นราธิวาส, บึงกาฬ, ปัตตานี, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, แพร่, ยะลา, ลำปาง, ลำพูน, เลย, สกลนคร, สิงห์บุรี, สุโขทัย, สุพรรณบุรี, หนองบัวลำภู, อ่างทอง, อำนาจเจริญ, อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
ซึ่ง 25 จังหวัดดังกล่าวสามารถบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ตามปกติ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สามารถพิจารณากำหนดมาตรการและเวลาเพิ่มเติมได้ตามสถานการณ์ของพื้นที่ ส่วนศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ รวมถึงสถานที่ลักษณะเดียวกันในห้างสรรพสินค้า และโรงแรมสามารถเปิดได้ตามปกติ
ส่วนการปรับมาตรการป้องกันโควิดอื่นๆ ที่ได้จากที่ประชุมมีดังนี้
- ไม่ขยายระยะเวลา Work from Home (ให้ WFH ถึง 31 มกราคม 2565 ตามเดิม)
- ปรับเวลาในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 23.00 น. (ปรับจากเดิม 21.00 น.) ทั้งนี้ ร้านอาหารที่เปิดให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ต้องเป็นร้านที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น และปฏิบัติตาม COVID Free Setting
- ผู้ประกอบการที่มีกิจการลักษณะคล้ายสถานบริการ, สถานบันเทิง, ผับ, บาร์ และคาราโอเกะ ที่ต้องการปรับรูปแบบเป็น ‘ร้านอาหาร’ สามารถขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ได้เมื่อมีความพร้อม โดยไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด
- มาตรการสำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงติดเชื้อโควิด (ผู้ติดเชื้อเข้าข่ายและยืนยัน)
มีการให้นิยามของ ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง’ หมายถึง ผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ได้ใส่ชุด PPE ตามมาตรฐานตลอดช่วงเวลาที่มีการสัมผัส โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมีรายละเอียดดังนี้
- ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เข้าข่าย/ยืนยัน ในวันเริ่มป่วย หรือก่อนมีอาการ 2-3 วัน
- อยู่ใกล้ชิดพูดคุยกับผู้ติดเชื้อ เข้าข่าย/ยืนยัน ในระยะ 2 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกไอจามรดจากผู้ป่วย
- อยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทมากนัก ร่วมกับผู้ป่วยนานกว่า 30 นาที
ส่วนแนวทางการรับมือสำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงติดโควิด บนหลักการ 7+3 ให้ปฏิบัติดังนี้
- กักตัวอยู่ที่บ้าน Home Quarantine เป็นเวลา 7 วัน (จากเดิม 10 วัน)
- สังเกตอาการของตนเองเป็นเวลา 3 วัน (ระหว่างนี้สามารถไปทำงานได้ แต่ต้องแยกพื้นที่กับผู้อื่น งดออกจากบ้านในช่วงสังเกตอาการ และงดไปที่สาธารณะ)
- ตรวจสอบหาเชื้อด้วยระบบ ATK เป็นจำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ช่วงวันที่ 5-6 ของวันกักตัวที่บ้าน และครั้งที่ 2 วันที่ 10 ของวันสังเกตอาการของตนเองวันสุดท้าย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แผนการเปิดรับผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าประเทศไทยในระบบ Test & Go จากเดิมมีประกาศระงับการลงทะเบียนเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 โดยปรับใหม่ให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยผ่านระบบ Test & Go ได้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 พร้อมรายละเอียด ดังนี้
- อนุญาตให้เข้ามาได้ทุกประเทศ
- ปรับการตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR เป็นจำนวน 2 ครั้ง
-
- มีหลักฐานการจองโรงแรมที่พักในวันแรกและวันที่ 5 โดยเป็นโรงแรมที่มีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ (SHA++ / AQ / QQ หรือ AHQ)
- มีหลักฐานชำระเงินการตรวจหาเชื้อจำนวน 2 ครั้ง
- จัดระบบการตรวจสอบและกำกับการเข้าที่พัก และตรวจหาเชื้อให้ครบ 2 ครั้ง โดยต้องอยู่ในที่พัก/สถานที่ที่กำหนด จนกว่าจะได้รับผลการตรวจ
- กำหนดระบบประกันให้ชัดเจน กรณีประกันไม่ครอบคลุมผู้เดินทางจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของ Hospital / Hospitel / Hotel Isolation และกรณีกลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หรือ HRC เอง
- กรณีเกิดการระบาดมากขึ้น หรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลง จะมีการพิจารณาการรับผู้เดินทาง แล้วปรับมาใช้ระบบพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวแบบ Sandbox
นอกเหนือจาก Test & Go ที่ประชุมมติเห็นชอบเปิดรับชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยผ่านระบบ Sandbox ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ได้เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าพื้นที่ดังนี้
- ชลบุรี: อำเภอบางละมุง, เมืองพัทยา, ศรีราชา, เกาะสีชัง และสัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียน และตำบลบางเสร่
- ตราด: เกาะช้าง
- การเปิดพื้นที่ให้เดินทางเชื่อมโยงในกลุ่มพื้นที่จังหวัดภูเก็ต, กระบี่, พังงา และ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย, เกาะพะงัน และเกาะเต่า) ในช่วง 7 วันที่ต้องพำนักในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว
พร้อมมาตรการ ดังนี้
- เคร่งครัดการมีหลักฐานจองที่พัก 7 วันในโรงแรมที่กำหนด และการตรวจ RT-PCR 2 ครั้งในวันที่ 1 และวันที่ 5-6
- มีระบบการตรวจสอบและกำกับการเข้าออกโรงแรมทุกวัน เป็นเวลา 7 วันในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว หรือในกลุ่มจังหวัดโดยไม่เกิน 3 โรงแรม พร้อมปรับมาตรการในการติดตามตัว เพื่อให้สามารถดำเนินการและติดตามได้ โดยให้โรงแรมเป็นผู้ตรวจสอบการเข้าพักทุกวันเป็นระยะเวลา 7 วัน และมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ SHA Manager และ COVID Manager ทั้งนี้ ผู้เดินทางสามารถเดินทางไป-กลับในจังหวัดใกล้เคียงได้