วันนี้ (30 เมษายน) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสอบถามในประเด็นต่างๆ ซึ่งได้มีสื่อมวลชนสอบถามในประเด็นที่ประชาชนซึ่งลำบากจากสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น โดยมีตัวเลขการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายตามที่ปรากฏผ่านสื่อว่า
ข้อมูลต่างๆ ทางกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปหารือกันในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) หลายครั้ง โดยนำข้อมูลจากหลายฝ่ายมาวิเคราะห์กัน ทั้งบทความทางวิชาการ สื่อมวลชน กรณีศึกษาต่างๆ ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่นำเสนอภาพนี้
ขณะที่กรมสุขภาพจิตได้นำตัวเลขรายงานในปี 2563 ขึ้นมา ซึ่งน่าเป็นห่วง สถานการณ์วิกฤตไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเองด้วย การยอมรับว่าเป็นสถานการณ์วิกฤต สิ่งที่ได้รับผลกระทบกลับมานอกจากการป่วยทางกายแล้วคือการป่วยทางจิต เป็นผลกระทบชัดเจนที่ยอมรับกันทั่วโลก แต่ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่เผชิญกับเรื่องนี้
แนวโน้มในการพยากรณ์เรื่องนี้ก็เหมือนกับการพยากรณ์ด้านการติดโรค ต้องพบตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายมากขึ้นไปด้วยเช่นเดียวกัน เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ได้ผิดไปจากการคาดหมาย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่าสิ่งสำคัญคือการเผชิญความเป็นจริง ทางกระทรวงสาธารณสุขจะต้องทำเช่นเดียวกันกับการควบคุมโรคติดต่อ หน้าที่ของกระทรวงคือต้องเข้าไปศึกษาและหาทางลดจำนวนการสูญเสียในเรื่องของการฆ่าตัวตาย หลักการของการดูแลปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ เนื่องจากมีสัญญาณก่อนการฆ่าตัวตาย สัญญาณการของการเจ็บป่วยทางจิตเป็นกระบวนการที่พี่น้องสาธารณสุขจะต้องเข้าไปดู บวกรวมถึงภาคเศรษฐกิจต่างๆ การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด จะช่วยลดปัญหาการสูญเสียเหล่านี้ได้ ซึ่งสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนทีเดียว ในหลายประเทศจะต้องมีมาตรการระดับประเทศที่ไม่ใช่เพียงแค่ระดับกระทรวงเท่านั้น ต้องเป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย
“ที่สำคัญที่สุดก็คือมาตรการส่วนบุคคล เวลานี้ประชาชนคนไทยที่กำลังมีความคิดเรื่องของผลกระทบเหล่านี้ การมีความคิดไปถึงการฆ่าตัวตาย หากมีลักษณะสัญญาณของฆ่าตัวตาย ญาติหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และร้องขอความช่วยเหลือมายังกรมสุขภาพจิต สายด่วน 1323 สามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เราเคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจที่เรียกว่าต้มยำกุ้ง มีอัตราตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 8.3 คนต่อจำนวนประชากร 1 แสนคน แต่ครั้งนี้ยังไม่ถึงขนาดนั้น เพราะตอนนี้เรายังมีมาตรการป้องกันที่ทำให้ตัวเลขลดลงได้ โดยต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์