×

ที่ปรึกษา ศบค. ชี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ผลจากล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้ ลุ้นต้นเดือนตุลาคมตัวเลขสะท้อนหลังคลายล็อก

โดย THE STANDARD TEAM
13.09.2021
  • LOADING...
ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง

วานนี้ (12 กันยายน) ศ.นพ.อุดม คชินทร รองประธานที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) กล่าวชี้แจงสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พบในขณะนี้ที่ต่ำกว่า 15,000 คน นั้นเป็นผลพวงมาจากการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคมเป็นต้นมา และตลอดเดือนสิงหาคม อีกทั้งการระดมฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุ ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อค่อยๆ ทยอยลดลง

 

“แต่การผ่อนคลายมาตรการกิจกรรมบางอย่าง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา จะเริ่มเห็นตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อเปลี่ยนไปในอีก 2 สัปดาห์หน้า กราฟผู้ป่วยติดเชื้อจะค่อยๆ กลับมาเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะเป็นปฏิกิริยาที่ต้องเกิดขึ้น เหมือนกับกฎของโมเมนตัมอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีก ประชาชนทุกคนต้องช่วยกัน ทั้งการดำเนินมาตรการป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล (Universal Prevantion) และในหน่วยงาน องค์กร หรือออฟฟิศต่างๆ ร่วมกันทำ Covid Free Setting สุ่มค้นหาผู้ป่วยในสถานที่ทำงานทุกสัปดาห์ ร่วมกับมาตรการส่วนบุคคลที่เคร่งครัด ก็ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยได้แน่นอน” ศ.นพ.อุดมกล่าว

 

ศ.นพ.อุดมกล่าวด้วยว่า ได้มีการอธิบายสถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อในที่ประชุม ศบค. และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบและเข้าใจแล้ว จึงยังไม่ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทั้งหมดในวันที่ 15 กันยายนนี้ ตัวเลขของผู้ป่วยติดเชื้อหลังผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ซึ่งเริ่มวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา จะสะท้อนในอีก 2 สัปดาห์ ดังนั้นรอให้ถึงวันที่ 1 ตุลาคม จึงค่อยมาดูสถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อว่าสมควรผ่อนคลายมาตรการต่างๆ หรือไม่

 

“ยอมรับว่าที่ผ่านมาคนมักมองว่าเรื่องของสุขภาพและเศรษฐกิจมักสวนทางกัน แต่ก็ไม่ใช่ เพราะ ศบค. เข้าใจสถานการณ์ว่าทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจต้องเดินควบคู่กันไป เพราะโควิดไม่สามารถจบลงได้โดยเร็ว แต่ต้องบริหารจัดการอย่างไรที่ทำให้ตัวเลขการป่วยติดเชื้อไม่เป็นภาระหนักจนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว และเศรษฐกิจยังขับเคลื่อนต่อไปได้ จะมาล็อกอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะเห็นว่าตอนนี้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ คนเต็มห้าง แต่ยังต้องขอให้ระมัดระวังตัวเอง เพราะการรับวัคซีน 2 เข็มครบแล้ว ก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่าไม่ติดเชื้อ จะเห็นได้ว่าในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือฝรั่งเศส ก็พบการป่วยติดเชื้อในกลุ่มคนรับวัคซีนครบแล้วทั้งนั้น ดังนั้นการบริหารจัดการทั้งเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจต้องสมดุล” ศ.นพ.อุดมกล่าว

 

ศ.นพ.อุดมกล่าวต่อไปว่า สำหรับอัตราคนไข้ป่วยติดเชื้อที่ระบบสาธารณสุขรับได้ไม่เกินกำลัง ควรต่ำกว่าวันละ 5,000 คน และตายไม่เกิน 50 คน ถือว่ารับได้ไม่เหนื่อยมาก

 

“แต่หากตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ที่ 5,000-10,000 คนต่อวัน อันนี้จะทำให้การทำงานในระบบสาธารณสุขเรียกว่าต้องยอมเหนื่อย แต่ยังพอรับได้ เพราะหากดูตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อยังครองเตียงในขณะนี้ จะเห็นว่าแม้ตัวเลขลดลง แต่เตียงในโรงพยาบาลในผู้ป่วยสีแดงยังเต็มอยู่ แต่หากตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อเกิน 10,000 คนต่อวัน ก็จะทำให้ระบบการทำงานของสาธารณสุขเริ่มหลังแอ่น ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกัน” ศ.นพ.อุดมกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising