×

จาก Crazy Rich Asians ถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและที่ยืนอันน้อยนิดของคนจน

17.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • มหาเศรษฐีเอเชียเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจากเศรษฐกิจที่ร้อนแรงของจีน ทำให้ค่าตัวคนในวงการ Private Banking เพิ่มขึ้นถึง 30% เพื่อรองรับลูกค้าเหล่านี้
  • คนจนมีต้นทุนการใช้ชีวิตมากกว่าคนรวยในทุกมิติ การสร้างความเท่าเทียมยังเป็นเรื่องสำคัญทั้งด้านการศึกษา ระบบสาธารณสุข และความเท่าเทียมด้านโอกาส

ไม่มีอะไรแพงเกินกว่าที่คนรวยจะซื้อ

 

เป็นเรื่องจริงที่เรายอมรับภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไปตามสถานะของตนเอง เราอาจคิดกันมาแต่ไหนแต่ไรว่า ‘คนรวยก็ยังรวยอยู่วันยังค่ำ’ และใช้ชีวิตไปตามปกติที่เป็น แต่สิ่งที่เรามักมองข้ามไปคือโครงสร้างของคนรวยบนโลกใบเดียวกับที่เราอยู่นี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หมายถึงอะไร และเกี่ยวอะไรกับเรา

 

สมดุลอำนาจเงินของคนรวยขณะนี้เปลี่ยนมาที่ฝั่งเอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพเศรษฐกิจที่เป็นไป สำนักข่าว THE STANDARD มองปรากฏการณ์ของภาพยนตร์ Crazy Rich Asians ในจอเงิน สู่ชีวิตจริงที่ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นยังเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติผ่านบทความนี้

 

เอเชีย ดินแดนแห่งความมั่งคั่งที่แซงหน้านิวยอร์กไปแล้ว       

ไม่เพียงแต่คลิปของเศรษฐินีชาวสิงคโปร์ที่พาโชว์เพนต์เฮาส์สุดหรูใจกลางเมืองจนทำให้ผู้คนทึ่งกับความร่ำรวยของชาวเอเชียเท่านั้น ล่าสุดภาพยนตร์เรื่อง Crazy Rich Asians ของวอร์เนอร์บราเธอร์ส ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดติดอันดับหนังทำเงินกว่า 117 ล้านเหรียญสหรัฐภายใน 3 สัปดาห์ที่เข้าฉาย และชีวิตที่ฟู่ฟ่าของเศรษฐีเอเชียก็ยิ่งเป็นที่สนใจมากขึ้นในเวทีโลก

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนภาพสังคมคนรวยชาวเอเชียได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่ฐานะและการศึกษาดีเท่านั้น แต่ยังครอบครองทรัพยากรส่วนใหญ่ของสังคมอีกด้วย Wealth-X องค์กรระดับโลกที่วิจัยข้อมูลผู้มีสินทรัพย์ระดับสูง (Ultra High Net Worth) ซึ่งมีทรัพย์สิน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 990 ล้านบาท เผยแพร่การศึกษาล่าสุดพบว่าเมืองที่มีบุคคลร่ำรวยอาศัยอยู่มากที่สุดคือฮ่องกง ซึ่งขยายตัวถึง 30% จากปี 2017 ที่ผ่านมา เอาชนะนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกาที่ครองแชมป์ตั้งแต่ปี 2011 ไปได้ในที่สุด

 

สาเหตุสำคัญที่คนรวยในฮ่องกงเพิ่มมากขึ้นคือภาคการเงินและตลาดหุ้นที่เติบโตร้อนแรงสัมพันธ์กับเศรษฐกิจของพญามังกรจีนที่ไม่มีใครต้านทานได้ในขณะนี้ อานิสงส์จากประเทศจีนไม่เพียงแต่เพิ่มคนรวยในฮ่องกงเท่านั้น แต่เพิ่มทั้งภูมิภาคด้วย Wealth-X รายงานว่าจำนวนของคนรวยทั้งเอเชียเพิ่มขึ้นถึง 20% ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีคนรวยมากที่สุดในโลก ซึ่งครองสัดส่วนผู้มีอันจะกินระดับบนเกือบ 1 ใน 3 ของดาวเคราะห์ดวงนี้

 

 

 

จำนวนผู้มีสินทรัพย์ระดับสูงของทั้งโลกเพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน หากนำทุกคนมารวมกันจะได้เมืองเศรษฐีที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 2.5 แสนคน ถือครองความมั่งคั่ง 31.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1 พันล้านล้านบาท (ต้องเขียนเลขศูนย์ถึง 15 ตัวเพื่อให้ครบตามมูลค่า)

 

 

“มันเป็นตลาดที่บ้าคลั่งมาก เราเจอกับลูกค้ามหาเศรษฐีใหม่ๆ แทบทุกวัน” เดอร์ริก ตัน ผู้บริหารส่วนงานบริการลูกค้าธนบดีธนกิจของ Oversea-Chinese Banking Corp ประเทศสิงคโปร์ พูดถึงความร้อนแรงและความท้าทายของบรรดาธุรกิจให้คำแนะนำการบริหารความมั่งคั่งที่ขยายตัวรวดเร็วไปตามจำนวนมหาเศรษฐีที่เกิดขึ้นนับแต่ปี 2013 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เศรษฐีชาวจีนเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 ใน 3 ของทั้งประเทศแล้ว แม้จะเป็นดินแดนที่ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงสุดแห่งหนึ่งของโลกก็ตามที

 

รายได้ของตำแหน่งผู้บริหารจัดการความมั่งคั่ง (Wealth Manager) ถีบตัวสูงขึ้นในรอบศตวรรษ เงินเดือนเพื่อจ้างผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้สูงขึ้นกว่า 30% ในฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งมี Relationship Manager (RM) ผู้มีใบอนุญาตแนะนำการลงทุนรวมเกือบ 1 หมื่นคน และทักษะภาษาจีนกลางหรือแมนดารินกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก

 

 

ความมั่งคั่งซึ่งวัดด้วยองค์ประกอบของเงินออม สินทรัพย์ทางการเงิน และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จากการศึกษาของ Capgemini’s World Wealth Report 2018 พบว่าเศรษฐีชาวเอเชียแปซิฟิกครองตำแหน่งแชมป์ด้วยมูลค่าทะลุ 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ล้ำหน้าภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป ขณะที่แอฟริกายังเป็นพื้นที่ที่มีความมั่งคั่งต่ำที่สุดตามคาด

 

คนรวยของแต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกัน แต่ลักษณะที่มีร่วมกันคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรุนแรงในทุกตารางนิ้ว รวมถึงประเทศไทย

 

ทำอย่างไรเมื่อคนที่รวยที่สุดถือครองทรัพยากรครึ่งหนึ่งของประเทศ

อมรศักดิ์ มาลา นักเศรษฐศาสตร์ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ ‘รู้จริงเศรษฐกิจไทย’ กล่าวว่าตัวเลขเศรษฐีเอเชียเกิดใหม่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจถ้าเทียบในเชิงจำนวน ซึ่งประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งโลกอยู่แล้ว ฉะนั้นจำนวนมหาเศรษฐีก็ย่อมมีมากตามไปด้วย ปัจจัยที่สำคัญคือการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่สูงมากเหมือนแต่ก่อน แต่ก็ยังมีความแข็งแกร่งมากกว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งส่งผลดีต่อประเทศที่ค้าขายด้วย นอกจากนี้ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและแรงงานที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือก็ยิ่งสร้างโอกาสให้กับธุรกิจขนาดใหญ่มากขึ้น อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการของเศรษฐีเอเชียจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการทั่วโลก

 

สำหรับประเทศไทยนั้น อมรศักดิ์ก็เห็นว่าไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่ประชากร 20% ของคนที่รวยที่สุดถือครองทรัพย์สินเกินครึ่งหนึ่งของทั้งชาติ และคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าคนจำนวน 20% ของคนที่จนที่สุดมากกว่าถึง 10 เท่า ตัวเลขนี้สะท้อนว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็น แม้จะพยายามแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการเพิ่มระดับรายได้ เปรียบเหมือนการช่วยให้ทุกคนมีเค้กก้อนใหญ่ขึ้น แต่ยังรักษาสัดส่วนการแบ่งเค้กเอาไว้เท่าเดิม คนที่ได้มากก็ยังได้มาก และคนที่ได้น้อยก็ยังได้น้อยเมื่อเปรียบเทียบกัน

ผู้มีรายได้น้อยหรือ ‘คนจน’ นั้นมีต้นทุนในชีวิตที่สูงกว่าคนที่ร่ำรวยในทุกมิติ ค่าใช้จ่ายเพื่อจะยกระดับชีวิตไปสู่ชนชั้นที่สูงกว่าทั้งรายได้และสินทรัพย์ที่คนจนมี ดังนั้นจึงแทบจะไม่มีทางเลือก ไม่เพียงแต่การลงทุนทำธุรกิจ กระทั่งจะลงทุนเพื่อการศึกษาหรือยกระดับทักษะก็ยังเป็นเรื่องยาก การเข้าถึงแหล่งทุนก็มีอย่างจำกัด จึงไม่แปลกที่เรามักจะได้ยินประโยคที่ว่า ‘คนจนก็ยิ่งจน คนรวยก็ยิ่งรวย’

อมรศักดิ์เห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณานโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำผ่านระบบภาษี ทั้งภาษีฐานรายได้ที่ดำเนินการอยู่แล้ว และภาษีฐานทรัพย์สินที่จะมีบทบาทมากขึ้นในการกระจายรายได้ในทุกระดับ นอกจากนี้รัฐบาลควรส่งเสริมการสร้างความเท่าเทียมด้านโอกาสทั้งรูปแบบของสวัสดิการถ้วนหน้าและความช่วยเหลือที่กำหนดกลุ่มเป้าหมาย


“โอกาสที่เท่าเทียมที่สำคัญคือระบบการศึกษา การเข้าถึงสาธารณสุข การออมเพื่อรองรับการเกษียณ และสิทธิด้านประกันสังคมนั่นเอง” อมรศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

 

วินาทีที่บัตรเครดิตชนิดพิเศษไม่จำกัดวงเงินถูกรูดซื้อสินค้าในร้านหรูใจกลางมหานคร เป็นวินาทีเดียวกับที่เด็กนักเรียนหญิงในพื้นที่ห่างไกลกำลังปะชุนชุดเนตรนารีเก่าๆ ที่ได้รับบริจาคมาอีกที อย่าว่าแต่อนาคตเลย แค่เย็นนี้จะเอาอะไรกิน เธอก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ


คนรวยก็ยิ่งรวย คนจนก็ยิ่งจน

 

ภาพประกอบ: Thiencharas W.

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X