ภาพของ คริสเตียโน โรนัลโด ที่ชูเสือสีเหลืองสดตัดกับสีน้ำเงินบนแขนเสื้อที่สกรีนหมายเลข 7 พร้อมชื่อของเขา RONALDO ในวันสุดท้ายของปี 2022 เป็นภาพที่ชวนให้เกิดความรู้สึกแปลกในใจอยู่ไม่น้อย
สุดยอดนักฟุตบอลแห่งยุคสมัยที่ขับเคี่ยวกับ ลิโอเนล เมสซี คู่ปรับฟ้าประทานของเขามาตลอดระยะเวลาร่วม 15 ปี – ระยะเวลาที่ยาวนานมากพอที่จะเทียบได้กับชั่วชีวิตการเล่นของนักฟุตบอลคนหนึ่ง – ไม่ได้ชูเสื้อของทีมระดับชั้นนำของยุโรป แต่เป็นเสื้อของสโมสรอัล นาสเซอร์ ทีมฟุตบอลในลีกซาอุดีอาระเบีย
แน่นอนครับว่ามันเป็นการบอกโดยไม่ต้องพูดว่าสำหรับโรนัลโด ยุคสมัยอันเรืองรองของเขาได้จบลงแล้ว และก็ตรงกับที่เจ้าตัวพูดเองในการแถลงข่าวเปิดตัวกับสโมสรใหม่อย่างเป็นทางการว่า “ที่ยุโรปงานของเขาเสร็จแล้ว ไม่เหลืออะไรที่ต้องทำอีกแล้ว”
จริงอยู่ที่มันอาจจะฟังดูย้อนแย้งในทีกับบทสัมภาษณ์อื้อฉาวที่เขาเปิดใจกับ เพียร์ส มอร์แกน เพื่อนรักในรายการ Uncensored ที่นอกจากการเปิดฉากโจมตี เอริก เทน ฮาก รวมถึงน้องๆ ในทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยังมีช่วงที่พูดถึงเรื่องของการหาต้นสังกัดใหม่ที่มีการพาดพิงถึงการมาเล่นในซาอุดีอาระเบียที่เริ่มมีข่าวในช่วงเวลานั้น ซึ่งดูเหมือนโรนัลโดจะต้องการเล่นในยุโรปต่อไปมากกว่า
แต่ความจริงคือไม่มีทีมใดที่อยากได้เขาไปร่วมทีมอีกแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม นั่นทำให้โรนัลโดตัดสินใจที่จะยอมรับข้อเสนอจากตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่อาจจะมีแค่คนเดียวและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่สโมสรฟุตบอลแห่งหนึ่งจะยอมจ่ายให้นักฟุตบอลได้มากถึงร่วมปีละ 173 ล้านปอนด์ต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทยคือปีละ 7 พันล้านบาท
ในจำนวนนี้เป็นเงินจากการทำหน้าที่ในสนามฟุตบอลปีละ 62 ล้านปอนด์ ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของเงินค่าลิขสิทธิ์ภาพลักษณ์และอื่นๆ ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียต้องการนำเขามาเป็นทูตเพื่อโปรโมตการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2030 ในปี 7 ปีข้างหน้าด้วย
เรียกได้ว่าดีลนี้เป็นธุรกิจที่คุยกันด้วยเรื่องของเงินล้วนๆ ไม่มีเหตุผลทางกีฬาเกี่ยวข้องอีกแล้ว
แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือการเลือกมาซาอุดีอาระเบียจะส่งผลกระทบต่อ ‘แบรนด์’ ของโรนัลโดที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปีหรือไม่
เพราะการไปซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ มีแฟนฟุตบอลและสายนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยที่คิดว่าโรนัลโดแทบไม่เหลือสภาพหนึ่งในผู้ท้าชิงตำแหน่ง G.O.A.T อีกแล้ว
อย่างไรก็ดีสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คือโรนัลโดยังคงเป็นนักกีฬาที่ทรงอิทธิพลสูงมากที่สุดคนหนึ่งของโลกอยู่เช่นเดิม และแบรนด์ของเขาไม่ได้ลดทอนความแข็งแกร่งลงแม้แต่น้อย
สิ่งที่เป็นเครื่องสะท้อนได้ดีที่สุดคือในระยะเวลาแค่ไม่ถึงสัปดาห์ หลังข่าวการตกลงย้ายมาร่วมทีมอัล นาสเซอร์ จำนวนตัวเลขผู้ติดตามบน Instagram ของสโมสรเพิ่มจากเดิม 860,000 คน เป็น 9.6 ล้านคน (ในขณะที่เขียน) หรือพูดง่ายๆ คือเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10 เท่า
เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในวันที่โรนัลโด ย้ายจากเรอัล มาดริดมาอยู่กับยูเวนตุสในปี 2018 ทำให้ทีมเบียงโคเนรีได้จำนวนผู้ติดตามทาง Instagram เพิ่มเป็น 6 ล้านคนในระยะเวลาอันรวดเร็วสายฟ้าแลบ
ขณะที่ภาพโรนัลโดชูเสื้อหมายเลข 7 ของเขาร่วมกับ มุสลี อัล-มูอัมมาร์ ประธานสโมสรอัล นาสเซอร์ มีคนมากดไลก์ให้ถึง 33 ล้านครั้ง กับคอมเมนต์อีก 1.2 ล้านครั้ง
View this post on Instagram
วิดีโอที่ โรนัลโด และ จอร์จินา โรดริเกซ คู่รัก ได้รับการทักทายจากสองแฟนบอลอัล นาสเซอร์ตัวน้อยๆ ด้วยช่อดอกไม้ มีคนมากดไลก์ให้ถึง 1.5 ล้านครั้ง กับอีก 27,500 คอมเมนต์
นอกจากในโลกโซเชียลมีเดียแล้วในโลกความจริงได้เกิดกระแสความ ‘โรนัลโดฟีเวอร์’ ขึ้นมาในซาอุดีอาระเบีย เสื้อหมายเลข 7 ของเขาถูกจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ชั่วโมงในร้านค้าของสโมสร ขณะที่บนร้านค้าออนไลน์ก็มีช่วงที่ล่มเพราะจำนวนผู้เข้าใช้งานเพื่อหวังจะสั่งเสื้อพร้อมกันมากเกินกว่าที่ระบบจะรองรับได้ไหว
ในการเปิดตัวที่สนามเมอร์ซูลพาร์กในกรุงริยาด มีแฟนฟุตบอลเข้ามากันเต็มความจุสนาม แฟนบอลยังได้ชมการฝึกซ้อมมื้อแรกของโรนัลโดกับทีมที่การสัมผัสบอลของเขาทุกครั้งจะได้รับเสียงเฮสนั่นเสมอ
สิ่งเหล่านี้เป็นแค่การ ‘เริ่มต้น’ ของเอฟเฟ็กต์จากการย้ายมาเล่นในซาอุดีอาระเบียของโรนัลโดเท่านั้น และมันอาจจะไม่ได้แย่อย่างที่ใครหลายคนคิด
ในทางตรงกันข้ามการปรากฏตัวของสุดยอดนักเตะคนหนึ่งของโลกกำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในดินแดนฟุตบอลที่อาจไม่ได้รับความใส่ใจจากคนทั่วโลกมาก่อน
การย้ายไปลีกรองของซูเปอร์สตาร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมันไม่ได้มีแต่ผลเสียเสมอไป
เรื่องนี้คล้ายกับปรากฏการณ์ความคลั่งไคล้ของแฟน ‘ซอคเกอร์’ ในสหรัฐอเมริกา เมื่อทีมฟุตบอลนิวยอร์ก คอสมอส คว้าตัวเปเล่ ราชาลูกหนังโลกผู้เพิ่งจากเราไปมาร่วมทีมในปี 1975 เพื่อแลกกับค่าตอบแทนปีละ 1.4 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากมายมหาศาลสำหรับนักกีฬาในสมัยนั้น (แม้ในเบื้องหลังการตกลงรับข้อเสนอนี้ของเปเล่นั้นเป็นการทำเพื่อ ‘ปลดหนี้’ ที่เกิดจากการเสียรู้ในการทำธุรกิจก็ตาม)
หรือในเจลีก ประเทศญี่ปุ่นที่ได้โคตรนักบอลแห่งยุค 80 มาเล่นหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ซิโก้, ดราแกน สตอยโควิช, ปิแอร์ ลิตต์บาร์สกี, กาเรกา หรือแม้แต่ แกรี ลินิเกอร์ นักฟุตบอลเหล่านี้ก็ได้รับค่าตอบแทนมหาศาลเช่นเดียวกัน และผลที่ได้คือความนิยมของเกมฟุตบอลที่เพิ่มสูงขึ้น
ความเครซี่ของแฟนฟุตบอลนั้นจะไม่หยุดแค่ซาอุดีอาระเบีย เพราะมันจะลุกลามไปทั่วตะวันออกกลางไปจนถึงทั่วเอเชีย และอาจจะไปถึงทั่วโลกที่จะมีแฟนบอลอยากมีโอกาสมาติดตามชมโรนัลโดในสนามสักครั้งในช่วงบั้นปลายของชีวิต
หากทุกอย่างออกมาดีดังคาด โรนัลโดจะเป็น ‘แรงบันดาลใจ’ อันยิ่งใหญ่สำหรับชาวตะวันออกกลาง และทำให้วงการฟุตบอลทางแถบนี้พัฒนาอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งในทางตรงกันข้ามกันตัวของซูเปอร์สตาร์ชาวโปรตุกีสก็จะได้ฐานแฟนฟุตบอลอีกมากมายมหาศาลทางแถบนี้
ที่สำคัญในการที่เขาเป็น ‘คนแรก’ ที่ก้าวมาเยือนที่นี่ นั่นหมายถึงโรนัลโดจะมีที่อยู่ในใจของชาวซาอุดีอาระเบียตลอดไป
View this post on Instagram
ผลพลอยได้อีกด้านคือเรื่องชื่อเสียงของซาอุดีอาระเบียในสายตาชาวโลกที่ติดลบมาเป็นระยะเวลายาวนาน และทุกวันนี้พวกเขายังเผชิญกับการประณามในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอื่นๆ แต่การได้คนในระดับ ‘ไอคอน’ อย่างโรนัลโดมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วยให้ภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้นไม่มากก็น้อย
อย่างน้อยในเวลานี้หลายคนก็ลืมๆ เรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน – ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ซาอุดีอาระเบียพยายามทำมาหลายปีในเรื่อง Sportswashing หรือการใช้เกมกีฬาเพื่อฟอกขาวภาพของประเทศที่ต้องการจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ แต่ทำไม่สำเร็จเหมือนที่กาตาร์ทำได้ก่อนหน้านี้
โรนัลโดมาช่วยทำให้มันสำเร็จในขั้นต้นแล้ว
นี่คือการลงทุนของซาอุดีอาระเบียที่หลายคนอาจจะมองว่าราคาที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับชื่อเสียงของโรนัลโดนั้นแพงมากมายมหาศาล แต่หากมองถึงสิ่งที่พวกเขาจะได้รับจากแบรนด์ ‘CR7’ แล้ว
สำหรับชาติที่ร่ำรวยไร้ขีดจำกัดเช่นซาอุดีอาระเบีย (ซึ่งมี Giga Project อย่าง ‘THE LINE’ ที่สร้างความฮือฮาให้โลกมาแล้ว) เงินแค่นี้ไม่ได้มากมายอะไร
คิดเป็นงบประชาสัมพันธ์ประเทศแบบ ‘จ่ายทีเดียวชนะไปเลย’ ก็อาจจะคุ้มแล้ว
อ้างอิง: