วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากมาย หนึ่งในนั้นคือธุรกิจศูนย์การค้าที่ต้องเผชิญกับช่วงล็อกดาวน์และต้องปิดให้บริการชั่วคราวกว่า 2 เดือน แต่ดูเหมือนผู้เล่นรายใหญ่อย่าง ‘เซ็นทรัลพัฒนา’ จะสามารถปรับตัวได้เร็ว ตอบรับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วย 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่
- การให้ความสำคัญและดูแลทุก Stakeholders อย่างเต็มที่
- การรักษาความแข็งแกร่งทางการเงินและการเติบโตระยะยาว
- สร้างความหลากหลายทางธุรกิจ (Diversified Business) เพิ่มแหล่งรายได้ เพื่อกระจายความเสี่ยง
- การปรับตัวสู่การเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตที่พร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ถือเป็นความท้าทายในการทำธุรกิจของบริษัท ซึ่งทางเซ็นทรัลพัฒนาได้มีการปรับกลยุทธ์และวางแนวทางการรับมือไว้หลายด้าน เริ่มจากการให้ความสำคัญและดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างแท้จริง ได้แก่ ลูกค้า ผู้เช่า พนักงาน ผู้ถือหุ้น สังคมและชุมชน” นั่นคือสิ่งที่ ปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าด้วยวิสัยทัศน์ในการนำพาธุรกิจและคู่ค้าฝ่าวิกฤตโควิด-19 ปี 2563 ตอกย้ำการเป็นรีเทลเบอร์หนึ่ง
ปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
ปรับกลยุทธ์และมาตรการช่วยเหลือ ประกาศเจตนารมณ์พร้อมอยู่เคียงข้างทุก Stakeholders
ลูกค้า ปรับกลยุทธ์เพิ่มการบริการที่สะดวกและปลอดภัย สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุค New Normal ทั้ง Chat & Shop, Drive-Thru Pick-Up และ Pick-Up Counter & Delivery
ผู้เช่า ออกมาตรการช่วยเหลือร้านค้าต่างๆ ที่อยู่กับเซ็นทรัลพัฒนากว่า 15,000 ราย อาทิ การยกเว้นค่าเช่า 100% ระหว่างที่ภาครัฐมีคำสั่งให้ปิดศูนย์การค้าชั่วคราว พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ อาทิ Food Pick-Up Counter, Delivery Service และช่วยเหลือสนับสนุนทางการตลาดเมื่อร้านค้ากลับเข้ามาดำเนินการต่อได้ อีกทั้งลดค่าเช่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พันธมิตรคู่ค้าฟื้นตัวกลับมาได้
พนักงานบริษัท เป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้ เซ็นทรัลพัฒนาไม่มีการเลิกจ้างหรือปรับลดเงินเดือน แต่มีการปรับใช้กำลังคนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสม พร้อมทั้งดูแลใส่ใจในด้านความปลอดภัย และทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมให้พนักงาน
ผู้ถือหุ้น ทางเซ็นทรัลพัฒนาเน้นรักษาธุรกิจให้ต่อเนื่องด้วยการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น พร้อมกับทบทวนแผนลงทุนในระยะสั้น เพื่อรักษาสภาพคล่องให้พร้อมรับสถานการณ์ในขณะนี้ที่ยังมีความไม่แน่นอน
สังคมและชุมชน มีส่วนร่วมในการบริจาคอุปกรณ์การแพทย์ เปิดพื้นที่ฟรีให้กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบได้มาค้าขายได้ รวมถึงลดค่าครองชีพด้วยการลดราคาอาหารในศูนย์อาหารของเซ็นทรัลพัฒนาทั่วประเทศ
รักษาความแข็งแกร่งทางการเงินและการเติบโตระยะยาว
เซ็นทรัลพัฒนาได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทที่มีระเบียบวินัยทางการเงิน (Financial Discipline) อย่างดีเสมอมา
โดยปัจจุบันสถานะทางการเงินของ CPN ยังแข็งแกร่งดี (Net D/E ของไตรมาสที่ 2/2563 อยู่ที่ 0.55 เท่า ต่ำกว่าระดับนโยบายของบริษัทที่ 1 เท่า ซึ่งถือว่ามีความพร้อมและยืดหยุ่นมากในการบริหารโครงสร้างเงินทุนของบริษัท)
การที่บริษัทยังคงสามารถรักษาความแข็งแกร่งทางการเงิน สะท้อนถึงการติดตามประเมินสถานการณ์และเตรียมแผนการรองรับสำหรับเหตุการณ์ในระดับต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง และพร้อมสำหรับโอกาสในการลงทุนเพื่อรักษาความเติบโตในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจในการบริหารธุรกิจในช่วงวิกฤตและรักษาความเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจ การพัฒนาโครงการต่างๆ ในระยะยาวยังคงเป็นไปตามที่วางไว้ด้วยงบลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี (ระหว่างปี 2563-2567) โดยเน้นโครงการในลักษณะ Mixed-Use Development ได้แก่
- ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อยุธยา ประกอบด้วยศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม โรงแรม และที่พักอาศัย คาดว่าจะเปิดในปี 2564
- ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ศรีราชา ประกอบด้วยศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย และศูนย์การศึกษา คาดว่าจะเปิดในปี 2564
- ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา จันทบุรี ประกอบด้วยศูนย์การค้าและการพัฒนารูปแบบผสมอื่นๆ คาดว่าจะเปิดในปี 2565
เดินเกมรุกเพิ่มพอร์ตธุรกิจกระจายความเสี่ยง
สิ้นปี 2562 เซ็นทรัลพัฒนามีศูนย์การค้าภายใต้การบริหารงานรวม 34 โครงการ (อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 15 โครงการ ต่างจังหวัด 18 โครงการ และมาเลเซีย 1 โครงการ) ศูนย์อาหาร 30 แห่ง, อาคารสำนักงานให้เช่า 7 อาคาร, โรงแรม 2 แห่ง, อาคารที่พักอาศัยเพื่อเช่า 1 โครงการ (รวม 11 ยูนิต) และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการขาย 8 โครงการ (รวม 2,798 ยูนิต)
เซ็นทรัลพัฒนายังคงไม่หยุดนิ่งที่จะลงทุนและพัฒนาธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ การเข้าไปพัฒนาโครงการที่พักอาศัย เน้นทำเลใกล้ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ตลอดจนทำเลที่มีศักยภาพอื่นๆ อาทิ Escent Ville เชียงใหม่, Escent Ville เชียงราย, Escent นครราชสีมา, โครงการ Phyll พหล 34 และยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง อาทิ Escent อุบลราชธานี, Escent Park Ville เชียงใหม่ และนิยาม บรมราชชนนี เป็นต้น
นอกจากนี้ยังตอกย้ำวิสัยทัศน์ด้านการลงทุนด้วยการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโต เสริมความแข็งแกร่งของโครงสร้างรายได้และสนับสนุนกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่
- เปิดให้บริการ Co-Working Space ภายใต้แบรนด์ Common Ground สาขาแรกในประเทศไทย ที่อาคารสำนักงาน G Tower พระราม 9 และเปิดสาขา 2 ที่อาคารดิ ออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ และกลุ่มบริษัท Common Ground จากประเทศมาเลเซีย
- ลงทุนในธุรกิจ Grab ประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัลเพื่อเพิ่มช่องทางขยายธุรกิจ ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าในศูนย์การค้า และเพิ่มจำนวนผู้มาใช้บริการ
- ลงทุนในบริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด ถือโดยบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และเพิ่มฐานรายได้ในการเติบโตบนที่ดินที่มีศักยภาพบริเวณถนนพหลโยธินและสี่แยกพระราม 9
ปรับตัวเร็ว พร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลง ภายใต้กลยุทธ์ ‘Center of Life’
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พฤติกรรมผู้บริโภคมีผลต่อทิศทางการเดินเกมของธุรกิจค้าปลีกอย่างมาก ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจที่จะกลับมาใช้บริการศูนย์การค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ หลังประกาศปลดล็อกดาวน์ ศูนย์การค้าสามารถกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 พบว่าลูกค้ามีความเชื่อมั่นในมาตรการดูแลความปลอดภัยอย่างมาก จนถึงตอนนี้มีทราฟฟิกกลับมาแล้ว 80-90% และบางศูนย์ฯ ก็ได้ถึง 100% แล้ว
โดย คุณปรีชา เอกคุณากูล ซีอีโอใหญ่ กล่าวว่า “เรามีการเตรียมพร้อมที่ดี ทั้งช่วงเริ่มต้นถึงช่วงล็อกดาวน์ ใช้มาตรการความสะอาดและความปลอดภัยเชิงรุก รวมถึงมีมาตรการในการช่วยเหลือคู่ค้าผู้เช่าอย่างต่อเนื่อง และในช่วงเตรียมพร้อมคลายล็อกดาวน์ได้ออกแผนแม่บท ‘เซ็นทรัล สะอาด มั่นใจ’ ยกระดับมาตรฐาน Hygiene & Safety กับ 5 แกนหลักกว่า 75 มาตรการ ทำให้ลูกค้าให้การตอบรับและมั่นใจกลับมาใช้บริการที่ศูนย์ฯ พร้อมกันนี้เรามีแคมเปญต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายและช่วยให้ธุรกิจของคู่ค้าฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ตอนนี้พฤติกรรมผู้บริโภคจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านแบบ New Normal คุ้นชินกับวิถีชีวิตใหม่ แต่เซ็นทรัลพัฒนาก็ยังเตรียมแผนรองรับ Online Platform เสริมทัพความสะดวกสบายทุกช่องทางให้กับลูกค้า อาทิ One Call One Click และ Chat & Shop และแม้ว่าผู้บริโภคจะคุ้นเคยกับการทำงานอยู่ที่บ้าน มีการใช้ Online Shopping เพิ่มขึ้น แต่คนยังคงโหยหาการใช้ชีวิตที่มีการพบปะ พูดคุย และสังสรรค์กัน ดังนั้น New Shopping Experience ต้องเป็นการผสมผสานหรือ Integration ระหว่าง Physical Store กับ Online Service เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและตอบรับทุกความต้องการของทุกคนยิ่งขึ้น
ต้องติดตามต่อไป เมื่อศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่ปรับตัว ค้าปลีกไทยจะเดินไปทิศทางไหน แต่แน่นอนว่าจะมีนวัตกรรมไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ มาตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมถึงการเดินเกมครั้งนี้ หัวใจสำคัญคือการนำพาให้ทุกฝ่ายรอดไปด้วยกัน พร้อมรับสถานการณ์เศรษฐกิจครึ่งปีหลัง และช่วยเดินหน้าประเทศต่อไป