กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 7.9% เพิ่มขึ้นจากระดับ 7.5% ในเดือนมกราคม สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 7.8% ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี นับจากปี 1982
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมการคำนวณราคาน้ำมันและอาหารปรับเพิ่มขึ้น 6.4% จากปีก่อนหน้า ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบใกล้เคียง 40 ปีเช่นกัน
ทั้งนี้การสำรวจมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ระดับ 8-9% ในเดือนถัดไป โดยเชื่อว่าตัวเลขที่ 8-9% จะเป็นระดับที่ก่อให้เกิด Demand Destruction หรือภาวะที่คนเริ่มรู้สึกว่าข้าวของแพงจนต้องลดการบริโภค
Jeffrey Gundlach ผู้ก่อตั้งบริษัทด้านการลงทุน DoubleLine Capital ได้ออกมาคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีโอกาสจะเร่งตัวได้อีกจนขึ้นไปถึงระดับ 10% หากสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อและสร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดในตลาดโลก
Gundlach ยังมองด้วยว่า ตัวเลขดัชนี CPI ที่ออกมาสูงกว่าคาดนี้ จะสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องเร่งถอนสภาพคล่องและขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นรุนแรง และจะทำให้เกิดการเทขายในตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยง
อ้างอิง: