×

เครือซีพีกับปฏิบัติการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050

โดย THE STANDARD TEAM
17.10.2022
  • LOADING...

Climate Change เป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกันอย่างเร่งด่วน ปัญหานี้คือสิ่งที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายใน ค.ศ. 2050 แผนการในการบรรลุเป้าหมายนี้ไม่เพียงแต่กำหนดขึ้นมาลอยๆ เท่านั้น แต่ยังต้องสามารถอ้างอิงตามหลักทางวิทยาศาสตร์ วัดผลได้ และสามารถทำได้จริงอีกด้วย

 

บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด ประกาศ 2 เป้าหมายความยั่งยืนใหม่ที่ท้าทายคือ เป็นองค์กรที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายใน ค.ศ. 2030 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายใน ค.ศ. 2050 ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งการดำเนินงานเพื่อบรรลุทั้งสองเป้าหมายไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่เพียงการประกอบธุรกิจของเครือเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนให้คู่ค้าธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานร่วมดำเนินการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเตรียมรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความท้าทายของธุรกิจ

คุณสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า เครือซีพีให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว โดยเริ่มเข้าร่วมประชุมกับสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ตั้งแต่ COP15 จนถึง COP26 ในปัจจุบัน และเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งธุรกิจเล็กและใหญ่ รวมทั้งภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะในเอเชียที่ได้รับผลกระทบสูงกว่าภูมิภาคอื่น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มีความท้าทายต่อธุรกิจของเครือซีพีเป็นอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจหลักของเครือฯ มีพื้นฐานมาจากเกษตรกรรมและอาหาร และธุรกิจค้าปลีก เช่น ซีพี ออลล์, โลตัส และแม็คโคร

 

ความท้าทายของเครือซีพียังไม่หมดเท่านี้ แม้ว่าอัตราการเกิดในประเทศไทยจะต่ำ แต่ทั่วโลกคาดว่าภายใน ค.ศ. 2050 ประชากรโลกอาจเพิ่มขึ้นอีก 25% ในฐานะผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก เครือซีพีจะต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้นถึง 50% และต้องเผชิญกับปัญหาด้านผลผลิตทางการเกษตรไปพร้อมๆ กัน เพราะทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ทำให้การผลิตอาหารลดลง 5-10% โดยเฉลี่ย ขณะเดียวกันก็มีตัวเลขที่น่าสนใจว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหรืออาหารที่เรากินปริมาณ 1/3 ของโลกไปไม่ถึงผู้บริโภค แต่เป็นขยะอาหาร (Food Wasted) ที่ไปอยู่ในหลุมฝังกลบกว่า 1,400 ล้านตันต่อปี และเป็นอีกตัวการที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน ในฐานะสมาชิกของ UN Global Compact เป้าหมายความยั่งยืนของเครือซีพีจึงเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ทั้ง Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของอุตสาหกรรม

 

ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญ ด้วยแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

เครือซีพีได้กำหนดให้การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นองค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์ความยั่งยืนสู่ ค.ศ. 2030 โดยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายใน ค.ศ. 2030 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใน ค.ศ. 2050 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่ง โดยตัวเลขปัจจุบันเครือซีพีปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานคิดเป็น 63 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (รวม FLAG Emission จากภาคเกษตร) และได้กำหนดแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก 6 ประเด็นหลัก คือ 

 

  1. เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล
  2. พัฒนาการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นการปรับปรุงระบบ เพื่อไม่ให้สูญเสียพลังงานที่ไม่จำเป็น
  3. จัดการของเสียด้วยการนำไปใช้ใหม่ให้เกิดประโยขน์แทนการฝังกลบ 
  4. พัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่ง โดยเปลี่ยนมาใช้รถ EV หรือระบบขนส่งที่มีคาร์บอนต่ำ
  5. ลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในภาคการเกษตร โดยพัฒนาระบบ Smart Farming ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  6. ฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน 

 

ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ขับเคลื่อนองค์กรสู่ Net Zero

นอกจาก 6 แนวทางที่ชัดเจน เมื่อถอดรหัสปฏิบัติการขับเคลื่อนองค์กรขนาดใหญ่พบว่า เครือซีพีได้วางปัจจัยความสำเร็จ หรือ Key Success Factors ไว้ 5 ข้อ โดยเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมารับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อพลิกโฉมองค์กรสู่ Net Zero Emissions ดังนี้

 

1. บทบาทหน้าที่ของผู้นำ (Leadership Commitment) 

ในทุกโครงการที่ผ่านมาของเครือซีพี คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด มักจะเป็น Lead Facilitator ที่นำข้อมูลและความคิดเห็นของผู้นำในแต่ละองค์กรทั้งในไทยและต่างประเทศมากำหนดเป้าหมายร่วมกัน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และเชื่อว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้หากมีการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอทั้งภายในและภายนอกองค์กร นอกจากนี้คุณศุภชัยยังได้เข้าร่วมการประชุมทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และมอบหมายให้ผู้บริหารภายในเครือเข้าร่วมโครงการและร่วมงานกับพาร์ตเนอร์ด้านการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศด้วย 

 

เครือซีพี

 

2. ความโปร่งใสและชัดเจนของเป้าหมายและผลการดำเนินงาน (Transparency)

สิ่งที่เครือซีพีพยายามทำให้เห็นอย่างชัดเจนคือ การตั้งเป้าหมาย Net Zero ภายใน ค.ศ. 2050 สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กรทั้ง Scope 1 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงขององค์กรจากการใช้เชื้อเพลิงเพื่อดำเนินธุรกิจ) และ Scope 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการซื้อไฟฟ้ามาใช้ในอุตสาหกรรม) ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามดำเนินการลด Scope 3 (ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมในห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการ) ให้ครบถ้วน และพยายามหาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด 

 

เครือซีพีเริ่มเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในเครือตั้งแต่ ค.ศ. 2017 เป็นต้นมาจากทุกกลุ่มธุรกิจใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ เพื่อคำนวณหาวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหา KPI ซึ่งเป็นดัชนี้ชี้วัดความสำเร็จในแต่ละโครงการ โดยมีการวัดผลทั้งด้านความคุ้มค่าในการลงทุนและผลลัพธ์จากการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้

 

 

เครือซีพี

 

3. กลไกตลาด (Market Mechanism)

กลไกตลาดนำมาซึ่งการลงทุนภายในเครือซีพี เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Net Zero เกิดการก่อตั้งหน่วยงานและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจไปพร้อมๆ กับการบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 

 

เครือซีพีต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดรับกับข้อกำหนดใหม่ๆ ในต่างประเทศ เช่น EU’s Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) กฎที่ตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องผู้ประกอบการในกลุ่ม EU เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการประเทศอื่นมีความได้เปรียบในการแข่งขันโดยที่ไม่ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Airline Industry Targets Net-Zero Carbon Emission by 2050 กฎด้านการบิน และ International Chamber of Shipping Commit to Net Zero by 2050 กฎด้านการขนส่ง

 

4. เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology & Innovation)

เครือซีพีเตรียมพร้อมรับมือต่อปัญหาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) การใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และการปรับปรุงกระบวนการผลิตในภาคเกษตร (Agricultural Activities) จึงได้มีการศึกษาค้นคว้าเพื่อคัดเลือก พัฒนา และนำเทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพมาใช้ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้แก่คู่ค้า เกษตรกร และผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กร 

 

5. การสร้างเครือข่ายและพันธมิตร (Collaboration & Inclusion)

เครือซีพียังสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพันธมิตรในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อร่วมกันเร่งมือขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ จึงได้เข้าร่วมในโครงการ Race to Zero และ Business Ambition for 1.5 C ที่ภาคเอกชนจะร่วมกันควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส สอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามความตกลงปารีส โดยตั้งเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศผ่านองค์กร Science-Based Targets Initiative (SBTi) ซึ่งถือเป็นความท้าทายของการรักษาสมดุลในการเติบโตทางธุรกิจ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน  

 

เครือซีพี

 

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความโดดเด่นของปฏิบัติการพลิกโฉมขององค์กรในครั้งนี้หนีไม่พ้นเรื่องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อปรับปรุงการทำงาน ทั้งในกระบวนการผลิตและการให้บริการ (Process Innovation) การปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการ (Product & Service Innovation) และการปรับแผนธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Business Model Innovation) โดยมีหลายโครงการที่น่าสนใจและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง

 

เครือซีพี

 

โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์

กลุ่มธุรกิจต่างๆ ภายในเครือซีพี ได้ดำเนินการโครงการพลังงานทดแทนเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) โดยติดตั้งทั้งที่โรงงานผลิตอาหารสัตว์, โรงงานแปรรูปอาหาร, ฟาร์มต่างๆ, ศูนย์กระจายสินค้า, อาคารสำนักงาน, สถานีขนส่งสัญญาณ ไปจนถึงร้านสะดวกซื้อ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งหมดใน พ.ศ. 2564 คิดเป็นปริมาณ 76 MWp สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 91 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี หรือคิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้กว่า 43,355 CO2e

 

เครือซีพี

เครือซีพี

 

นวัตกรรมอาหารสัตว์รักษ์สิ่งแวดล้อม

 

เครือซีพี

 

เครือซีพีคิดค้นนวัตกรรมอาหารสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้กับฟาร์มสุกรทั่วประเทศ และขยายผลไปยังธุรกิจผลิตอาหารสุกรอีก 7 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, จีน, ไต้หวัน และรัสเซีย โดยเน้นลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซแอมโมเนียสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไบโอเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงการลดปริมาณสารอาหารส่วนเกินในสิ่งปฏิกูลที่สุกรขับถ่ายออกมา เช่น ปริมาณไนโตรเจนซึ่งเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันฟาร์มสุกรของซีพีเอฟทั่วประเทศใช้อาหารสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใน พ.ศ. 2561 สามารถลดปริมาณไนโตรเจนในมูลสุกรได้ถึงร้อยละ 20-30 เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ประมาณ 90 ตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่า 3,600 ไร่ ซึ่งสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 41,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

 

เครือซีพี

เครือซีพี

เครือซีพี

 

โครงการสวนเกษตรสมัยใหม่ CIXI ประเทศจีน 

 

เครือซีพี

 

เครือซีพีได้นำโมเดลสวนเกษตรสมัยใหม่มาใช้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาดินเค็มและดินที่มีสภาพเป็นทะเลทราย โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยถูกทิ้งร้างให้เป็นสวนเกษตรสมัยใหม่ (Cixi Modern Agricultural Park) แก้ปัญหาดินเค็มโดยอาศัยวิธีการทางชีวภาพ เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เพาะปลูก และยังช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเพาะปลูก และลดมลภาวะอย่างยั่งยืน จนกลายเป็นต้นแบบปรับปรุงพื้นที่ดินเค็มในประเทศจีน และขยายผลต่อไปเพื่อปรับปรุงพื้นที่กว่า 10 แห่งทั่วประเทศจีน ฟื้นฟูที่ดินกว่า 300,000 ไร่ พร้อมทั้งฝึกอบรมเกษตรกรกว่า 10,000 คน เพื่อร่วมกันขยายผล นอกจากนี้ยังมีการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในฟาร์ม เพื่อใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและปล่อยของเสียให้น้อยที่สุด และนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าไปใช้ในการจัดการทรัพยากรอีกด้วย

 

เครือซีพี

 

ผลลัพธ์ของความมุ่งมั่น

ปัจจุบันเครือซีพีมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงจากโครงการด้านสิ่งแวดล้อม 1.07 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าใช้พลังงานทั้งหมดไป 57.72 ล้านกิกะจูลของพลังงานทั้งหมด มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนไป 12% และลดค่าใช้จ่ายจากการประหยัดพลังงานได้ 1,144 ล้านบาท 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising