วันนี้ (1 สิงหาคม) ที่อาคารรัฐสภา ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เข้าชี้แจงในการประชุมคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เป็นประธาน และมี นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง เป็นรองประธาน
ประสิทธิ์กล่าวภายหลังการประชุมว่า รายละเอียดการประชุมให้คณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้แถลง ในวันนี้ทาง CPF ไม่ได้ชี้แจงอะไรเพิ่มเติม เป็นการให้ข้อมูลตามที่เคยแจ้งไป ส่วนแนวทางการช่วยเหลือก็เป็นไปตาม 5 โครงการที่จะไปเข้าร่วมกับรัฐบาล ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งมีอีก 2 สถาบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่อยากเข้าร่วมโครงการด้วย
“เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตาม เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท เหมือนกรณีโควิด เราก็เป็นบริษัทหนึ่งที่ไปช่วยเหลือส่งอาหารหลายล้านกล่อง ซึ่งในกรณีนี้ก็มีความคล้ายกัน
“สำหรับแนวทางในการช่วยเหลือนั้น เราก็ตั้งเป้าหมายจะช่วยดึงปลาออกจากระบบให้เร็วที่สุดประมาณ 2 ล้านกิโลกรัม และสนับสนุนปลาอีก 2 แสนตัว ในการกำจัดให้เร็วขึ้น รวมถึงช่วยสนับสนุนเรื่องงานวิจัยต่างๆ”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงภาพหลักฐานซากปลานั้น ประสิทธิ์กล่าวว่า เป็นไปตามที่แจ้งว่าบางภาพไม่สามารถเปิดเผยได้ และได้ส่งไปที่กรมประมงแล้ว
ประสิทธิ์กล่าวถึงสิ่งที่ต้องชี้แจงกับสังคมว่า เราคิดว่าสิ่งที่เราได้ชี้แจงไปนั้นเพียงพอแล้ว ส่วนหลักฐานต่างๆ เราก็ได้ส่งจำนวนปลาตามที่ได้ตกลงกัน ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการที่ปลาแพร่กระจาย เรานำเข้ามา 2,000 ตัว โดยมีกระบวนการจัดการที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งข้อมูลที่ระบุว่ามีการส่งออก 300,000 ตัว ห่างกัน 150 เท่า ควรที่จะต้องพิจารณาหรือไม่ว่าการแพร่กระจายนั้นเกิดจากสาเหตุใด
ผู้สื่อข่าวจึงถามว่า แล้วการแพร่กระจายเกิดขึ้นจากสาเหตุใด ประสิทธิ์กล่าวว่า เราเชื่อมั่นว่าไม่ได้เกิดจากเรา ส่วนเกิดจากอะไรต้องให้คณะกรรมาธิการฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ เป็นผู้กำหนดนโยบายในการปราบปราม และฝากนักข่าวพิจารณาเพิ่มเติมว่ามาจากไหน แต่เราคงแสดงความคิดเห็นมากไม่ได้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า มีบริษัทอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ประสิทธิ์กล่าวว่า มันมีข่าวอยู่แล้ว เพราะมีการส่งออกปลาหมอคางดำจาก 11 บริษัท ไป 17 ประเทศ เห็นข้อมูลจากกรมประมงและข่าวต่างๆ ที่มีการสืบค้นเพิ่มเติม
ประสิทธิ์ยืนยันว่ากระบวนการจัดการของบริษัทอยู่ในมาตรฐานสูง เรายืนยันกับทางกรมประมงไปแล้วว่ากระบวนการทั้งหมดเป็นลูกปลาอยู่กับเราแค่ 16 วัน หากใครที่เคยเลี้ยงปลาจะทราบว่าปลาที่นำเข้ามา 2,000 ตัว เมื่อมาถึงสนามบินเหลืออยู่ 600 ตัว และสภาพก็ไม่แข็งแรง แสดงว่าปลาโดยรวมที่เหลือไม่แข็งแรง ซึ่งขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่มาตรวจที่สนามบิน ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวเลขที่นับกันโดยคาดประมาณการ
ประสิทธิ์กล่าวถึงเหตุผลการนำเข้าปลาหมอคางดำในขณะนั้นว่านำเข้าเพื่อการพัฒนาสายพันธุ์ปลา ซึ่งรายละเอียดต้องให้นักพัฒนาสายพันธุ์ปลาเป็นคนตอบ ตอนนั้นนำเข้ามาเกิดจากการประชุมการพัฒนาสายพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนปี 2549 เกิดเป็นไอเดียในการนำเข้ามา ก็นำมาทดลอง และกระบวนการยุ่งยากกว่าจะนำเข้ามาได้อย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากใช้เวลากว่าจะนำเข้าก็จนถึงปี 2553 เมื่อปลาไม่สมบูรณ์ก็ปิดโครงการ ในระยะเวลาทั้งหมด 16 วัน ซึ่งการฝังซากปลาก็ทำตามระบบขั้นตอน โดยฝังภายในฟาร์ม