เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) รายงานกำไรสุทธิ 2Q65 จำนวน 4.2 พันล้านบาท ลดลง 11%YoY แต่เพิ่มขึ้น 48%QoQ
โดยมีกำไรพิเศษ 896 ล้านบาท จากกำไรจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน 1.4 พันล้านบาท, กำไรจากเงินลงทุน (หลังภาษี) 545 ล้านบาท, กำไรจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ชีวภาพ (สัดส่วนการถือหุ้นของ CPF) 634 ล้านบาท, กำไรจากการซื้อกิจการ 145 ล้านบาท และกำไรจากการกลับรายการขาดทุนจากการด้อยค่า 50 ล้านบาท ลบด้วยค่าใช้จ่ายภาษีจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ 1.7 พันล้านบาท และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 208 ล้านบาท
ทั้งนี้ กำไรปกติ 2Q65 อยู่ที่ 3.3 พันล้านบาท ลดลง 10%YoY แต่เพิ่มขึ้น 340%QoQ สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะยอดขายและมาร์จิ้นแข็งแกร่ง ซึ่งกำไรปกติที่ลดลง YoY สะท้อนราคาสุกรที่อ่อนแอลงในเวียดนามและจีน ขณะที่กำไรปกติที่เพิ่มขึ้น QoQ เกิดจากราคาสัตว์บกที่ดีขึ้นในไทยและเวียดนาม
นอกจากนี้ CPF ประกาศจ่ายเงินปันผลงวด 1H65 อยู่ที่ 0.4 บาทต่อหุ้น ขึ้น XD วันที่ 30 สิงหาคมนี้
สำหรับรายการสำคัญใน 2Q65
- ยอดขาย 31% เกิดจากธุรกิจสัตว์บกในไทย, 5% เกิดจากธุรกิจสัตว์น้ำในไทย, 54% เกิดจากธุรกิจสัตว์บกในต่างประเทศ และ 10% เกิดจากธุรกิจสัตว์น้ำในต่างประเทศ
- อัตรากำไรขั้นต้นลดลง 190bps YoY สู่ 14.5% โดยเกิดจากอัตรากำไรขั้นต้นที่อ่อนแอลงจากธุรกิจสัตว์บกในต่างประเทศ (ลดลง 540bps YoY) เพราะราคาสุกรในเวียดนามลดลง และธุรกิจสัตว์น้ำในไทย (ลดลง 600bps YoY) และต่างประเทศ (ลดลง 120bps YoY) เพราะขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ได้ช้ากว่าต้นทุนที่สูงขึ้น ไปหักล้างอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นจากธุรกิจสัตว์บกในไทย (เพิ่มขึ้น 440bps YoY) เพราะขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ได้เร็วกว่าต้นทุน
กระทบอย่างไร:
ในวันนี้ (17 สิงหาคม) ราคาหุ้น CPF ไม่เปลี่ยนแปลง DoD คงที่ระดับ 26.25 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.60%DoD สู่ระดับ 1,639.72 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2565:
ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ถึงปัจจุบัน สำหรับธุรกิจสัตว์บกในประเทศ โดยราคาสุกรและไก่เนื้อในประเทศปรับขึ้นสู่ 110 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 59%YoY และ 13%QoQ) และ 46 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 53%YoY และ 13%QoQ) ตามลำดับ
โดย CPF คาดว่าอุปสงค์และอุปทานที่ตึงตัวจะสนับสนุนให้ราคาสัตว์บกยืนอยู่ในระดับสูงใน 2H65 ซึ่งบริษัทยังไม่เห็นการฟื้นตัวของอุปทานสุกรในประเทศ (สุกร 4-5 ล้านตัว หรือ 20% ของอุปทานสุกรในประเทศได้รับความเสียหายจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร)
การส่งออกไก่เนื้อไปยังยุโรปยังคงแข็งแกร่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากปัญหาเกี่ยวกับการผลิตไก่เนื้อ (ต้นทุนพลังงาน ค่าแรง และวัตถุดิบสูง) ที่ยืดเยื้อในยุโรป
ด้านต้นทุนวัตถุดิบ CPF คาดว่าต้นทุนข้าวโพดในประเทศและกากถั่วเหลืองนำเข้าใน 2H65 จะลดลงเล็กน้อยจาก 1H65 จากการเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวพร้อมกับสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ทั้งนี้แม้ต้นทุนอาหารสัตว์ลดลง แต่อุปสงค์และอุปทานจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดแนวโน้มราคาสัตว์บก
ส่วนธุรกิจสุกรในเวียดนามและจีน โดยราคาสุกรในเวียดนามและจีนเพิ่มขึ้นสู่ 64,000 ดองเวียดนามต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 24%YoY และ 16%QoQ) และ 22 หยวนต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 47%YoY และ 42%QoQ) ตามลำดับ
ซึ่ง CPF คาดว่าอุปสงค์ที่ฟื้นตัวจะช่วยพยุงราคาไว้ในระดับสูง เมื่ออิงกับราคาสัญญาล่วงหน้า และคาดว่าราคาสุกรในจีนจะอยู่ในกรอบ 20-22 หยวนต่อกิโลกรัมใน 2H65 (สูงกว่าจุดคุ้มทุนที่ 16-17 หยวนต่อกิโลกรัม) ซึ่งจะส่งผลทำให้ธุรกิจสุกรกลับมาทำกำไรได้หลังจากขาดทุนเป็นเวลานานกว่า 1 ปี
อย่างไรก็ดี ด้วยราคาสัตว์บกในไทยและราคาสุกรในจีนและเวียดนามที่ดีขึ้นในเดือนกรกฎาคมถึงปัจจุบัน SCBS จึงคาดว่าผลการดำเนินงานปกติ 3Q65 จะเพิ่มขึ้น QoQ และจะพลิกกลับมามีกำไรจากขาดทุนปกติสืบเนื่องมาจากการล็อกดาวน์ใน 3Q64
สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือ แรงกดดันเงินเฟ้อต่ออุปสงค์และต้นทุน และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP