×

CPAXT – มีแรงหนุนจากแนวโน้มที่ดีขึ้นใน 4Q66 และปี 2567

22.11.2023
  • LOADING...
CPAXT

เกิดอะไรขึ้น:

InnovestX Research ประเมินการเติบโตยอดขายสาขา (SSS Growth) ของ CPAXT ในธุรกิจ B2B ใน 4Q66TD ได้ที่อัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำถึงกลาง YoY และธุรกิจ B2C ได้ที่อัตราเลขตัวเดียวระดับกลาง YoY (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่อยู่ในระดับค่อนข้างทรงตัว YoY) ด้วยแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยว ในขณะเดียวกัน ยังไม่เห็นผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อยอดขายของ CPAXT จากการเปิดร้าน GO Wholesale ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 4 สาขาใน 4Q66 (ย่านศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ ในเดือนตุลาคม, เชียงใหม่ในเดือนพฤศจิกายน, พัทยาและชลบุรีในเดือนธันวาคม) 

 

ทั้งนี้ ตลาดค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคแบบ B2B ของประเทศไทยมีมูลค่า 2.6 ล้านล้านบาทในปี 2565 และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปีในระยะ 5 ปีข้างหน้า CPAXT เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุด โดยมียอดขายในธุรกิจ B2B กว่า 2.4 แสนล้านบาท (ส่วนแบ่งการตลาด 9%) ในขณะที่ GO Wholesale ตั้งเป้ายอดขายจากร้านค้ารูปแบบนี้ที่ 500 ล้านบาทใน 4Q66

 

สำหรับ 4Q66 มองจะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปีนี้ โดยคาดว่ากำไร 4Q66 จะเติบโต QoQ จากปัจจัยฤดูกาล และ YoY ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ ประการแรก ประเมินว่าดอกเบี้ยจ่ายจะลดลง โดยมีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยที่ 3.7% ต่อปีใน 4Q66 (หลังจากการรีไฟแนนซ์หนี้ที่มีดอกเบี้ยต่ำเสร็จสิ้น) เทียบกับ 5.8% ต่อปีใน 4Q65 (จากอัตราดอกเบี้ยในสกุล USD และ THB ที่สูงขึ้นตลอดช่วงเวลาดังกล่าวสำหรับหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว) ซึ่งบ่งชี้ว่าการเติบโตของกำไรที่เกิดจากการประหยัดดอกเบี้ยจ่าย (หลังภาษี) ได้เพียงอย่างเดียวจะอยู่ที่ 17%YoY (460 ล้านบาท) ใน 4Q66 

 

ประการที่สอง ในด้านการดำเนินงาน คาดว่าการเติบโตของยอดขายทั้งในธุรกิจ B2B และธุรกิจ B2C และต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ลดลง (ประเมินได้ว่าการลดลงของต้นทุนค่าไฟฟ้าในประเทศในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566, ลดลง 15%YoY และ 15% จากเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566, จะหนุนให้กำไรเฉลี่ยต่อปีเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีก 10%) จะช่วยชดเชยค่าใช้จ่าย SG&A ที่สูงขึ้นในธุรกิจ B2B จากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ O2O และอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงในธุรกิจ B2C จากการแข่งขันทางราคาและการขายสินค้าแบบ B2B ที่ให้มาร์จิ้นต่ำเพิ่มมากขึ้น

 

ในปี 2567 CPAXT ตั้งเป้ายอดขายเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก YoY จาก SSS Growth ที่เป็นบวกและการขยายร้าน / มอลล์ โดยอัตรากำไรขั้นต้นจะกว้างขึ้นกว่า 20 bps YoY ในธุรกิจ B2B และ 100 bps YoY ในธุรกิจ B2C ด้วย Synergy ที่เกิดจากการจัดซื้อร่วมกันมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารสดนำเข้า ยอดขายอาหารสดและสินค้าที่ไม่ใช่อาหารที่มีมาร์จิ้นสูงที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงภายใน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาใหม่ 

 

CPAXT ตั้งเป้าอัตราส่วนค่าใช้จ่าย SG&A / ยอดขายลดลง เนื่องจากยอดขายจาก Omni-Channel จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น InnovestX Research คาดว่ายอดขายในปี 2567 จะมี Upside จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ (รออนุมัติ) โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (คาดว่าจะเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2567) และโครงการ e-Refund (วางแผนไว้ว่าจะเริ่มในเดือนมกราคม 2567)   

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น CPAXT ปรับขึ้น 4.50%MoM สู่ระดับ 29.00 บาท ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 1.73%MoM สู่ระดับ 1,423.61 จุด 

 

กลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุน: 

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา CPAXT ปรับตัว Underperform SET อยู่ 13% สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับ 1) การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคแบบ B2B จากการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ และ 2) กำไรปกติ 3Q66 ที่เติบโตในอัตราชะลอตัวลงที่ 7%YoY จากค่าใช้จ่าย SG&A ที่สูงขึ้นในธุรกิจ B2B และมาร์จิ้นที่ลดลงในธุรกิจ B2C 

 

เมื่อมองต่อไปข้างหน้า คาดว่าราคาหุ้น CPAXT จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากยอดขายใน 4Q66TD ของบริษัทยังเติบโตสูงกว่าบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน และกำไร 4Q66 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปีนี้ โดยจะเพิ่มขึ้น YoY จากดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง ยอดขายที่ดีขึ้น และต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ลดลง และ QoQ จากปัจจัยฤดูกาล การจัดตั้งกองทุน TESG (SET ESG Rating ของ CPAXT อยู่ที่ระดับ ‘AAA’) และการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ จะเป็นปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้นในระยะสั้น 

 

กลยุทธ์การลงทุนยังคงเรตติ้ง Outperform สำหรับ CPAXT ด้วยราคาเป้าหมายกลางปี 2567 อ้างอิงวิธี DCF (WACC 7.1% และการเติบโตระยะยาวที่ 2.5%) ที่ 35 บาทต่อหุ้น

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือ การเปลี่ยนแปลงในกำลังซื้อและต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และนโยบายของรัฐบาลใหม่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X