เกิดอะไรขึ้น:
ใน 3Q67TD ยอดขายสาขา (SSS) ธุรกิจ CVS ของ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) (เพิ่มขึ้น 2.5-3%YoY) และ CPAXT (เพิ่มขึ้น 2-3%YoY ในธุรกิจ B2B และธุรกิจ B2C) ดีกว่าบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มพาณิชย์ InnovestX Research คาดว่ากำไร 3Q67 ของ CPALL จะเติบโต YoY โดดเด่นกว่าบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน แต่จะลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล สำหรับธุรกิจ CVS คาดการณ์ถึงยอดขายและมาร์จิ้นที่ดีขึ้น YoY โดยได้แรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
การซื้อแบบไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าเพิ่มมากขึ้น กระแสตอบรับที่น่าพอใจต่อแคมเปญแสตมป์ในปีนี้ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม – 23 พฤศจิกายน (ลูกค้าสามารถสะสมแสตมป์ในการซื้อครั้งแรกเพื่อใช้เป็นส่วนลดสำหรับการซื้อครั้งต่อไป หรือสามารถสะสมแสตมป์เพื่อแลกรับสินค้าตัวการ์ตูน ‘โดราเอมอน’ ได้ในภายหลัง) และยอดขายสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง เช่น สินค้า RTE และ RTD ที่เพิ่มขึ้น สำหรับ CPAXT คาดว่ายอดขายและมาร์จิ้นจะปรับตัวดีขึ้น YoY โดยได้แรงหนุนทั้งจากธุรกิจ B2B และธุรกิจ B2C กำไร 4Q67 จะเติบโตทั้ง YoY และ QoQ สู่ระดับสูงสุดของปีนี้
ด้านรายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลใหม่กำลังพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อวันที่ 9 กันยายน ว่า ภายใต้มาตรการแจกเงิน 10,000 บาทให้กับคนไทย 50 ล้านคน วงเงินรวม 4.5 แสนล้านบาท ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งคาดว่าจะเดินหน้าต่อ (ตั้งเป้าแจกเป็นเงินสดหรือดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 5,000 บาทใน 4Q67 และส่วนที่เหลืออีก 5,000 บาทจะแจกเป็นดิจิทัลวอลเล็ตในปี 2568)
รัฐบาลใหม่กำลังพิจารณาออกมาตรการใหม่เร่งด่วนคือ การแจกเงินสด 10,000 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบางภายใต้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน วงเงินรวม 1.45 แสนล้านบาทก่อน โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2567 หรือภายในเดือนกันยายน 2567
ทั้งนี้ เงื่อนไขการใช้จ่ายมีแนวโน้มที่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยไม่มีการจำกัดประเภทสินค้าและร้านค้า รวมถึงสถานที่ตั้งร้านค้า รายละเอียดของมาตรการจะต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในวันที่ 17 กันยายน 2567 โดยหากพิจารณาจากเงื่อนไขการใช้จ่ายตามข่าวล่าสุด มาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการค้าปลีก รวมถึง CPALL ด้วย
ทั้งนี้ ยังไม่ได้รวม Upside จากมาตรการเหล่านี้เข้ามาไว้ในประมาณการกำไร การวิเคราะห์ความอ่อนไหวบ่งชี้ว่า SSS ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1% จะหนุนให้กำไรของ CPALL ปรับเพิ่มขึ้นได้อีก 1%
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา CPALL ออกหุ้นกู้ชุดใหม่มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท (ต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย 3.44% ต่อปี) เพื่อรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ชุดเดิม (ต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย 5% ต่อปี) การประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้จะหนุนให้กำไรของ CPALL ปรับขึ้นได้อีก 160 ล้านบาท (กำไรเฉลี่ยต่อปีปรับขึ้นได้อีก 1%) ซึ่งยังไม่ได้รวมอยู่ในประมาณการผลประกอบการ สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่มีโอกาสจะปรับลดลงในช่วงเวลา 1 ปีข้างหน้า การวิเคราะห์ความอ่อนไหวบ่งชี้ว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงทุกๆ 25 bps จะหนุนให้กำไรเฉลี่ยต่อปีของ CPALL ปรับขึ้นได้อีก 1%
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มพาณิชย์ (SET COMM) ปรับขึ้น 15.6% ราคาหุ้น CPALL ปรับขึ้น 14.3% ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 10.3%
แนวโน้มผลประกอบการปี 2567:
กำไร 2H67 ของ CPALL มีแนวโน้มที่จะเติบโต YoY ดีกว่าบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มพาณิชย์ โดยได้แรงหนุนจากยอดขายที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมาร์จิ้นที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งจากธุรกิจ CVS และ CPAXT โดย SSS ใน 3Q67TD ที่ธุรกิจ CVS และ CPAXT ดีกว่าบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน
ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่กำลังจะประกาศใช้ (โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและดิจิทัลวอลเล็ต, ปรับเงื่อนไขเป็นไม่มีการจำกัดประเภทสินค้าและร้านค้า รวมถึงสถานที่ตั้งร้านค้า, รอ ครม. พิจารณาอนุมัติในวันที่ 17 กันยายน 2567, กำหนดกรอบเวลาแจกเงินตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 – ปี 2568) และแนวโน้มที่จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงจะสร้าง Upside ให้กับกำไรของ CPALL
ปัจจุบันหุ้น CPALL ซื้อ-ขายในระดับที่น่าสนใจที่ P/E ปี 2567 ระดับ 25 เท่า (-2 S.D. จาก P/E เฉลี่ย 10 ปี) InnovestX Research ยังคงคำแนะนำ Outperform สำหรับ CPALL โดยให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2567 อ้างอิงวิธี DCF (WACC 7%, การเติบโตระยะยาว 2.5%) ที่ 77 บาทต่อหุ้น
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ การเปลี่ยนแปลงในกำลังซื้อและนโยบายของรัฐบาล ความเสี่ยง ESG ที่สำคัญคือ การบริหารจัดการพลังงาน ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (E) และแนวปฏิบัติด้านการจ้างงาน (S)