×

CPALL – เติบโตโดดเด่นต่อเนื่อง

11.09.2023
  • LOADING...
ร้าน 7-11

เกิดอะไรขึ้น:

 

ใน 3Q66TD ยอดขายสาขา (SSS) ของกลุ่มพาณิชย์เติบโตในอัตราชะลอตัวลงที่ระดับต่ำกว่า 1% YoY (เทียบกับ 3%YoY ใน 2Q66) เพราะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่เปราะบางสำหรับผู้มีรายได้น้อย และ Sentiment ในการจับจ่ายใช้สอยที่อ่อนแอจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง 

 

ในขณะเดียวกัน SSS ในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (CVS) ของ CPALL มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 2-3%YoY ใน 3Q66TD โดยได้แรงหนุนจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและการตอบรับที่ดีต่อแคมเปญแสตมป์ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม – 23 พฤศจิกายน (กลับมาเปิดตัวแคมเปญแสตมป์เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี) โดยลูกค้าสามารถสะสมแสตมป์จากการซื้อครั้งแรกเพื่อใช้เป็นส่วนลดในการซื้อครั้งต่อไป หรือนำมาแลกสินค้าลายบราวน์และมินเนียนในภายหลัง 

 

บริษัทพบว่ายอดขายเพิ่มขึ้น YoY ในเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาในพื้นที่ท่องเที่ยวและสำนักงาน โดยมีการเติบโตที่แข็งแกร่งในพื้นที่อยู่อาศัย (ยกเว้นพื้นที่โรงงาน) บริษัทกลับมาเปิดสาขาทั้งหมดที่ปิดไปในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดแล้ว และยังคงแผนเปิดสาขา 700 แห่ง (จำนวนสาขาสุทธิหลังจากหักสาขาที่ปิดไป) ในปี 2566 (เทียบกับที่เปิดไปแล้ว 377 แห่งใน 1H66)

 

อัตรากำไรขั้นต้นใน 3Q66 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 20bps YoY จาก 1) การมียอดขายสินค้ากลุ่มของใช้ส่วนตัวและสินค้ากลุ่ม Ready-to-eat & Drink ที่ให้มาร์จิ้นสูงเพิ่มมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการกลับมาของนักท่องเที่ยว การตัดสินใจซื้อแบบฉับพลันที่เพิ่มขึ้น และการเปิดตัวสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูงเพิ่มมากขึ้น เช่น อาหารเกาหลี ญี่ปุ่น Chef Care และ 2) ผลกระทบเชิงบวก YoY จากการทยอยปรับราคาสินค้าในปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้น 3Q65

 

ส่วนผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลใหม่ CPALL เชื่อว่านโยบายของรัฐบาลใหม่ เช่น นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล จะช่วยหนุนให้ยอดขายเพิ่มขึ้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในกรณีที่ประชาชนสามารถใช้เงินดิจิทัลได้ที่ร้านค้าโมเดิร์นเทรดหรือร้านค้าแบบดั้งเดิม นอกจากนี้บริษัทยังเชื่อว่าการยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีศักยภาพสูงเพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวไทยจะช่วยหนุนให้การบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

CPALL คาดการณ์ถึงผลกระทบที่สามารถจัดการได้หากค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยยอดขายดีขึ้นจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจะชดเชยผลกระทบจากค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้น และจะได้รับผลกระทบเชิงบวกเพิ่มเติมจากค่าไฟฟ้าที่ลดลงหากรัฐบาลใหม่ลดค่าไฟฟ้าลงได้ตามที่สัญญาไว้ ค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5% จะทำให้ต้นทุนของธุรกิจ CVS เพิ่มขึ้น 50 ล้านบาทต่อเดือน (ยังไม่นับยอดขายที่สูงขึ้น) ในขณะที่ค่าไฟฟ้าที่ลดลงทุกๆ 5% จะทำให้ต้นทุนของธุรกิจ CVS ลดลง 30 ล้านบาทต่อเดือน

 

ด้านการขยายสาขาต่างประเทศ หลังจากเปิดร้าน CVS สาขาแรกในเดือนสิงหาคม 2564 CPALL ก็เปิดสาขาในประเทศกัมพูชาไปแล้วเกือบ 70 สาขา โดยยอดขายเป็นไปตามเป้า บริษัทตั้งเป้ามีร้าน CVS ในประเทศกัมพูชา 100 สาขา ในปี 2567 และ 200 สาขา (ระดับคุ้มทุนของประเทศกัมพูชา) ในระยะกลาง สำหรับ สปป.ลาว บริษัทเปิดร้าน CVS สาขาแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 โดยยอดขายดีเกินคาดในช่วง 2-3 วันแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่งในท้องถิ่น บริษัทตั้งเป้ามีร้าน CVS ใน สปป.ลาว 10 สาขาในปี 2568

 

กระทบอย่างไร:

 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น CPALL ปรับเพิ่มขึ้น 8.90%MoM สู่ระดับ 64.25 บาท ขณะที่ SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 1.89%MoM สู่ระดับ 1,547.17 จุด 

 

แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:

 

InnovestX Research คาดการณ์กำไรปกติของ CPALL จะเติบโต 25%YoY สู่ 1.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2566 โดยการเติบโต 7% จะเกิดจากส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้นจาก CPAXT เพราะยอดขายและมาร์จิ้นปรับตัวดีขึ้นและการผนึกกำลังทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และที่เหลือเกิดจากธุรกิจ CVS ที่ฟื้นตัวดีขึ้น เพราะ SSS ดีขึ้นจากเศรษฐกิจฟื้นตัวและนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และมาร์จิ้นที่กว้างขึ้นจากการมีสัดส่วนการขายที่ดีขึ้น

สำหรับใน 2H66 คาดว่ากำไร 3Q66 จะอยู่ในระดับทรงตัวหรือเพิ่มขึ้น QoQ (สวนทางกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ลดลง QoQ) และเติบโต YoY ต่อเนื่อง ขณะที่ 4Q66 คาดว่ากำไรจะเติบโต YoY โดยได้รับการสนับสนุนจาก 1) ยอดขายและมาร์จิ้นที่เติบโตอย่างต่อเนื่องที่ธุรกิจ CVS และ 2) ส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้นจาก CPAXT จากดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงหลังจากรีไฟแนนซ์หนี้เสร็จและการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่จะลดลง QoQ จากค่าใช้จ่าย SG&A ที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยฤดูกาล

อย่างไรก็ดี ด้านกลยุทธ์การลงทุนยังคงเรตติ้ง Outperform สำหรับ CPALL ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 อ้างอิงวิธี DCF (WACC ที่ 7.0% และอัตราการเติบโตในระยะยาวที่ 2.5%) ที่ 78 บาทต่อหุ้น

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ การเปลี่ยนแปลงในด้านกำลังซื้อ ต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และนโยบายรัฐบาลใหม่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X