ข้อดีของเทศกาลปีใหม่คือ การได้ทบทวนชีวิตที่ผ่านมาและใช้ช่วงเวลาในปีปฏิทินเริ่มต้นสิ่งใหม่ ถ้าให้ทบทวน ค.ศ. 2021 หรือ พ.ศ. 2564 หลายคนคงมองว่า นี่คือปีแห่งความสิ้นหวัง
เราเจอแต่วิกฤตและก็วิกฤต แต่ถ้าพลิกมุมคิดสักนิด และทบทวนตัวเองว่าเราผ่านวิกฤตเหล่านั้นมาได้อย่างไร อาจพบว่า ปีนี้เป็นปีแห่ง ‘นักสู้’ ของพวกเรา
ถ้าย้อนไปช่วงต้นปีคนไทยเข้าสู่ปีใหม่ พ.ศ. 2564 ด้วยความหวังหลังเราต้องอดทนล็อกดาวน์กันมาหลายเดือน กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่เราก็ยังอดทนกันได้ด้วยความหวังว่าปีนี้ทุกอย่างจะดีขึ้น แต่โควิดสายพันธุ์อัลฟาและเดลตาเข้ามาระบาดซ้อนกันตั้งแต่ช่วงต้นปี ความหวังของการเริ่มต้นใหม่พังทลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก กลายเป็นการเปิดศักราชใหม่ที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และจากนั้นวิกฤตก็เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ในช่วงนั้นแทบไม่เห็นข่าวที่ดีต่อใจ แต่ในที่สุดคนไทยก็ได้เฮกันลั่นกันทั้งประเทศ เมื่อ เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ แซงเอาชนะ อาเดรียนา เซเรโซ อิเกรเซียส นักเทควันโดวัย 17 ปี ในช่วง 7 วินาทีสุดท้าย คว้าเหรียญทองโอลิมปิกประวัติศาสตร์ด้วยคะแนน 11-10 คะแนน จากเด็กผู้หญิงที่เริ่มเล่นกีฬาเพราะผอมแห้ง ไม่แข็งแรง สู่นักกีฬาเทควันโดที่เก่งที่สุดในโลก
เทนนิสบอกว่า “สู้ให้สุด ไม่หยุดก็ไม่แพ้’ ปลุกให้ผู้คนลุกขึ้นสู้ผ่านอุปสรรคชีวิตในช่วงเวลาที่เลวร้าย สอนให้เรารู้ว่าก่อนจะเป็นวินาทีที่ยิ่งใหญ่ เราต้องผ่านวินาทีที่แย่ที่สุดมาก่อน และไม่ว่าเราต้องผ่านความพ่ายแพ้ ท้อแท้ กดดัน และฝันร้าย หรือจะล้มกี่ครั้ง ก็ไม่สำคัญเท่าใจที่ ‘ไม่ยอมแพ้’
ถ้ามองช่วงชีวิตที่วิกฤตในแง่บวกอีกนิด หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าเราจะเจอเพื่อนแท้ในช่วงวิกฤต วิกฤตจะช่วยคัดกรองคนรอบตัวให้เราได้ว่าคนไหนจริง คนไหนปลอม ถ้ามองภาพใหญ่ขึ้นกว่าตัวบุคคลเป็นภาพของสังคม วิกฤตก็ทำหน้าที่คัดคนจริง คนปลอม ให้สังคมได้ไม่แพ้กัน เราจะเห็นชัดว่าในช่วงวิกฤตที่มืดมิด มีใครทำอะไรให้สังคมบ้างในช่วงเวลาที่คนไทยลำบากที่สุด
สถิติความยากจนของคนไทยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) โดยธนาคารโลกพบตัวเลขที่น่ากังวลจากผลกระทบของโควิดที่ว่า พ.ศ. 2563-2564 จำนวนคนยากจนในประเทศไทยสูงถึง 5.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2562 ประมาณ 1.5 ล้านคน ตัวเลขนี้สะท้อนว่า มีผู้คนมากมายที่ท้องกำลังหิว ก่อนจะไปพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว เราต้องแก้ปัญหาที่เร่งด่วนนี้ก่อน เพราะเมื่อ ‘หิว’ วิธีแก้ไขที่ง่ายและถูกต้องที่สุดคือ ‘กิน’
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ได้นำความเชี่ยวชาญทางด้านอาหารของบริษัทฯ ไปช่วยเหลือสังคม ประเทศชาติ และประชาชน ดำเนินโครงการ ‘CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19’ ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ตามนโยบายของประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ภายใต้โครงการ ‘ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19’ มอบอาหารพร้อมรับประทานเพื่อบุคลากรทางการแพทย์และพี่น้องคนไทยแล้วหลายล้านแพ็ก รวมถึงน้ำดื่มและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหลายล้านขวด ตลอดจนวัตถุดิบอาหารสดและเครื่องปรุงรสสำหรับนำไปปรุงอาหารแก่โรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนาม กลุ่มเปราะบาง ศูนย์ฉีดวัคซีน จุดตรวจโควิด และหน่วยงานต่างๆ มากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ และผนึกกำลังบริษัทในเครือซีพี รวมถึงพันธมิตรกว่า 100 องค์กร ส่งมอบข้าวกล่องอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 2 ล้านกล่อง ประกอบด้วย 1 ล้านกล่องแรก ซื้อจากร้านอาหารรายย่อย และอีก 1 ล้านกล่องมาจาก CPF เป็นอาหารที่ปรุงใหม่ สุก สะอาด ถูกสุขอนามัย มีเมนูอาหารที่หลากหลาย กระจายสู่ชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ขาดรายได้ ว่างงาน กลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่กักตัวดูอาการ และผู้ที่รักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation รวมถึงร้านอาหารรายย่อยให้สามารถฝ่าวิกฤตโควิดไปได้ ภายใต้ ‘โครงการครัวปันอิ่ม ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19’ นอกจากนี้ยังมอบหน้ากากอนามัยจำนวน 6 ล้านชิ้น พร้อมด้วยมังคุดสุคิริน จังหวัดนราธิวาส 100,000 กิโลกรัม ช่วยพยุงผลผลิตทางการเกษตรให้เกษตรกรชาวสวนให้พวกเขามีรายได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก หรือแม้แต่ช่วงพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่เข้าประเทศไทยส่งผลกระทบต่อผู้คนในหลายจังหวัด CPF ส่งความห่วงใยผ่าน ‘โครงการส่งอาหารจากใจ สู้ภัยน้ำท่วม’ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาหาร และเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องคนไทยอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เข้าถึงอาหารคุณภาพดี อร่อย ปลอดภัย และถูกสุขอนามัย
นี่คือตัวอย่างของเพื่อนแท้ของสังคมที่คอยอยู่เคียงข้าง เข้าใจเรา ตั้งใจจะฝ่าวิกฤตไปพร้อมกัน และเราเชื่อว่าพวกเขาเหล่านี้จะสู้ไปกับเราเสมอไม่ว่าจะเจอวิกฤตใดอีกก็ตาม สมกับสโลแกน ‘สู้ให้สุด ไม่หยุดก็แพ้’ ที่ไม่ใช่แค่คำคม แต่คือคำสัญญาว่าจะไม่หยุดลงมือทำ
เราเดินทางผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาถึงสิ้นปี เราสู้ผ่านจุดที่วิกฤตที่สุดมาจนถึงจุดที่มันเริ่มคลี่คลาย โควิดย้ำให้เห็นว่า โลกปัจจุบันนี้ไม่มี Standard Guideline อีกต่อไป มีแต่ Living Guideline ที่ปรับเปลี่ยนไปตามข้อมูลที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นเราคงไม่สามารถพูดได้ว่าเรารู้วิธีรับมือกับโควิดแล้ว แต่เราพูดได้ว่าเรารู้ว่าควรทำอย่างไรหากเกิดอะไรขึ้นมาอีก
ค.ศ. 2022 หรือ พ.ศ. 2565 จะเป็นปีที่เรากลับมาด้วยความหวังกันอีกครั้ง เป็นปีที่เรามาพร้อมด้วยภูมิคุ้มกันที่แกร่งกว่าเดิม เพื่อก้าวเดินต่อไปอีกครั้ง โดยมีเพื่อนแท้คอยโอบอุ้มรองรับเราในวันที่ลำบาก โดย CP-CPF พร้อมที่จะเป็นหนึ่งในเพื่อนแท้ร่วมกันต่อสู้ผ่านอุปสรรคทุกอย่างในชีวิตไปด้วยกัน