×

ซีพีเซ็นสัญญาครั้งประวัติศาสตร์ เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

24.10.2019
  • LOADING...

ผ่านไปร่วมปีหลังจากเปิดซองผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งผู้ชนะคือกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH) 

 

ในที่สุดการลงนามเริ่มโครงการครั้งประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้นกลางทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือ CPH) 

 

ตัวแทนฝ่าย CPH คือ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ส่วนตัวแทนฝ่ายรัฐคือ วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เซ็นสัญญาร่วมทุนและบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

 

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 2.24 แสนล้านบาท มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าตามแนวทางรถไฟสายตะวันออกผ่านแม่น้ำบางปะกงเข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้าย โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

ปัญหายืดเยื้อที่กลุ่ม CPH ไม่ยอมลงนามสัญญาก่อสร้างที่ปรากฏเป็นข่าวคือเรื่องการส่งมอบพื้นที่โครงการ

 

ตามรายละเอียดในเอกสารเสนอโครงการ หรือ RFP (Request for Proposal) ระบุว่ารัฐจะต้องส่งมอบพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 50% ของพื้นที่ก่อสร้าง

 

ฝ่ายรัฐระบุว่ามีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทันที 72% หลังเซ็นสัญญา

 

แต่ทาง CPH ต้องการส่งมอบพื้นที่ 100% ก่อนเซ็นสัญญา

 

นี่คือปมปัญหาที่ทำให้การเซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการนี้ยื้อมาร่วมปี

 

ในที่สุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี เพื่อทำเอกสารแนบท้ายสัญญาแผนการส่งมอบพื้นที่ โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงจากทั้งโครงการ 220 กิโลเมตร ประกอบด้วย

 

1. สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ 28 กิโลเมตร โครงสร้างแอร์พอร์ตลิงก์เดิม พร้อมส่งมอบทันที แต่ CPH ต้องจ่ายค่าเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาทก่อน

 

2. สถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กิโลเมตร ส่งมอบใน 2 ปี แต่เร่งให้ได้ 1 ปี 3 เดือน 

 

3. สถานีพญาไท-ดอนเมือง 22 กิโลเมตร ส่งมอบใน 4 ปี เร่งรัดได้ 2 ปี 3 เดือน โดยพื้นที่ช่วงนี้เป็นส่วนที่มีปัญหาการส่งมอบมากที่สุด เพราะต้องทำการรื้อย้ายท่อส่งน้ำมันและก๊าซ รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ 

 

การแบ่งพื้นที่ส่งมอบเป็น 3 ช่วง ทำให้ต้องปรับการเปิดให้บริการตามผลงานการก่อสร้าง จะเปิดบริการช่วงสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 ส่วนสถานีพญาไท-ดอนเมือง อาจเปิดใช้ในช่วงปลายปี 2567-2568

 

นอกจากการเดินรถไฟแล้ว สิ่งที่ภาคเอกชนคาดหวังมากคือการพัฒนาที่ดินรอบสถานี หลักๆ คือที่ดินมักกะสัน 128 ไร่ ทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง สามารถพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 1 ล้านตารางเมตร โดยกลุ่ม CPH เตรียมลงทุนพัฒนาพื้นที่ตรงนี้กว่า 1.4 แสนล้านบาท

 

นอกจากนี้ยังมีที่ดินศรีราชาของการรถไฟ 25 ไร่ ซึ่งจะถูกพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ หรือมิกซ์ยูส ครบทั้งที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ค้าปลีก และโรงแรมเช่นกัน

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X