วันนี้ (13 มกราคม) ตัวแทนประชาชนจาก 19 จังหวัด ประมาณ 150 คน รวมตัวกันที่หน้าอาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ ถนนสีลม เพื่อยื่นข้อเรียกร้องถึงบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (CP) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) เรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบต่อรายงานการระบาดของปลาหมอคางดำ
ธีระ วงษ์เจริญ อดีตรองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี อ่านจดหมายเปิดผนึกถึง ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์, สุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และคณะกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด เนื้อหาจดหมายเรียกร้องให้บริษัท CPF แสดงความรับผิดชอบ หลังมีรายงานการระบาดของปลาหมอคางดำที่เริ่มต้นระบาดตั้งแต่ปลายปี 2544-2555 และบัดนี้ลุกลามไปถึง 19 จังหวัดแล้ว
“ขอเรียกร้องให้เครือ CP และบริษัท CPF เคารพกฎหมายและหลักเกณฑ์ความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด ในการนำเข้าสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ ไม่ให้เกิดการนำเข้าที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพ กรมประมง” ธีระอ่านข้อเรียกร้อง
จดหมายเปิดผนึกระบุด้วยว่า CPF ยังแถลงผลกำไรในไตรมาส 3 ว่า บริษัทมีผลกำไรมากถึง 7.3 พันล้านบาท ในฐานะบริษัทมหาชนควรแบ่งผลกำไรเหล่านั้นคืนสู่สังคม เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ หรือกรณีอื่นๆ เช่น ฝุ่น PM2.5 และในฐานะบริษัทที่มีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมือง ควรเปลี่ยนการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อบริษัทในเชิงบวก มากกว่าใช้กลไกทางกฎหมายกับประชาชน หรือองค์กรที่วิพากษ์วิจารณ์เพื่อยับยั้งการแสดงความเห็น
ต่อมาตัวแทนผู้บริหารของบริษัทฯ มารับข้อเรียกร้องและระบุว่า จะนำเรียนหนังสือฉบับนี้ให้ผู้ใหญ่พิจารณา อย่างไรก็ตาม เมื่อทางบริษัทพิจารณาแล้วจะมีความเห็นหรือการตอบรับอย่างไร จะเป็นการแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบต่อไป
หลังจากนี้ตัวแทนประชาชน 19 จังหวัดจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร และในเวลา 14.00 น. จะเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป