×

2 สัปดาห์ที่ปิดประเทศ ทำไมมาเลเซียยังมีผู้ป่วยโควิด-19 สูงสุดในอาเซียน ชะตากรรมแรงงานไทยจะเป็นอย่างไร

30.03.2020
  • LOADING...
โควิด-19 มาเลเซีย

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • มาเลเซียปิดประเทศมา 2 สัปดาห์แล้ว แต่ทำไมยังมีผู้ติดเชื้อสูงสุดในอาเซียน
  • การตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างเข้มข้นทำให้พบผู้ติดเชื้อสูงตามมา โดยมาเลเซียกำลังเดินตามแนวทางของเกาหลีใต้ ซึ่งที่ผ่านมามีการตรวจหาเชื้อไวรัสต่อจำนวนประชากรนับเป็นรายหัวสูงสุดในอาเซียน โดยอยู่ที่ 482 ต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่ชาติอาเซียนอื่นๆ จะอยู่ที่ 6-109 ต่อประชากร 1 ล้านคน
  • สำรวจการเตรียมความพร้อมด้านโรงพยาบาลของมาเลเซีย
  • ความเป็นอยู่ของคนไทยในมาเลเซียเป็นอย่างไร น่ากังวลแค่ไหน

ผ่านมา 2 สัปดาห์แล้วของการใช้มาตรการ Movement Control Order (MCO) ของมาเลเซีย และรัฐบาลได้ขยายเวลาออกไปอีกจนถึงวันที่ 14 เมษายนนี้ ส่วนตัวเลข ณ วันที่ 29 มีนาคม 2020 มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 2,470 ราย สูงที่สุดในอาเซียน และมีผู้ที่รักษาหายแล้วจำนวน 388 ราย สูงที่สุดในอาเซียนเช่นกัน 

 

มาดูสถานการณ์โดยทั่วไปในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก่อน แม้ว่าในช่วงแรกที่ประกาศใช้ MCO จะมีคนแห่ออกจากเมืองหลวงกลับไปบ้านเกิดเป็นจำนวนมาก แต่ไม่กี่วันต่อมาก็มีประชาชนบางส่วนพยายามเดินทางกลับเมืองหลวง ทว่ารัฐบาลได้ใช้กำลังทหารทำงานร่วมกับตำรวจเพื่อสกัดคนที่จะเดินทางกลับเมืองหลวงให้ตั้งหลักอยู่ที่บ้านเกิดไปก่อน โดยแต่ละรัฐได้ใช้ความเข้มงวดในการควบคุมประชาชนให้ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลกลางอย่างเคร่งครัด รวมทั้งปิดด่านทางด่วนทั่วประเทศ 23 ด่านเพื่อหยุดการสัญจรเคลื่อนย้ายของคน มาตรการนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ โดยสามารถหยุดการเคลื่อนย้ายของคนที่จะเดินทางสัญจรข้ามรัฐได้ 

จากการติดตามแนวทางแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในมาเลเซีย ขอสรุปว่ามีการใช้ 3 แนวทาง นั่นคือ ‘หยุดคนให้อยู่กับที่ จับตรวจกลุ่มเสี่ยงอย่างเข้มข้น และเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล’ 

 

หยุดคนให้อยู่กับที่ ก็คือการประกาศมาตรการ MCO ที่มีผลออกมาค่อนข้างประสบความสำเร็จ ตามรายงานจากรัฐมนตรีอาวุโสด้านความมั่นคงระบุว่าประชาชน 95% ปฏิบัติตามมาตรการ มีเพียง 5% เท่านั้นที่ฝ่าฝืน เช่น ออกไปวิ่งจ๊อกกิ้ง จับกลุ่มออกมาคุยกันนอกบ้าน และมีการจับกุม ลงโทษ ปรับ และขังได้จำนวนหนึ่ง 

 

ในอีกด้านหนึ่งเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศทุ่มงบประมาณจำนวน 2.5 แสนล้านริงกิต เพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มในโครงการ PRIHATIN Package (Prihatin หมายถึงความห่วงใย) แบ่งเป็น 1 แสนล้านริงกิตเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และอีก 2,000 ล้านริงกิตเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ที่เหลือเป็นการช่วยเหลือประชาชนโดยตรง ประกอบด้วย 

 

1. แจกเงิน 1,600 ริงกิตให้กับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 4,000 ริงกิต จำนวน 4 ล้านครอบครัว โดยแบ่งเป็น 1,000 ริงกิตในเดือนเมษายน และอีก 600 ริงกิตในเดือนพฤษภาคม

 

2. แจกเงิน 1,000 ริงกิตกับครอบครัวที่มีรายได้เดือนละ 4,000-8,000 ริงกิต จำนวน 1.1 ล้านครอบครัว โดยแบ่งเป็น 500 ริงกิตในเดือนเมษายน และอีก 500 ริงกิตในเดือนพฤษภาคม

 

3. แจกเงิน 800 ริงกิตกับคนโสดอายุ 21 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้เดือนละ 2,000 ริงกิตลงมา จำนวน 3 ล้านคน โดยจะให้ 500 ริงกิตในเดือนเมษายน และอีก 300 ริงกิตในเดือนพฤษภาคม

 

4. แจกเงิน 500 ริงกิตกับคนโสดอายุ 21 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้เดือนละ 2,000-4,000 ริงกิต จำนวน 4 แสนคน แบ่งเป็น 250 ริงกิตในเดือนเมษายน และอีก 250 ริงกิตในเดือนพฤษภาคม

 

และให้ความช่วยเหลือกับภาคส่วนอื่นๆ อีก เช่น กระทรวงสาธารณสุข แจกเงินให้นักศึกษา 200 ริงกิต พนักงานของรัฐ 500 ริงกิต ลดค่าไฟฟ้า อินเทอร์เน็ตฟรี รวมทั้งให้เงินพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในแนวหน้าทุกกลุ่ม เป็นต้น โครงการนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงเวลาของการใช้มาตรการ MCO  

 

และจากโครงการนี้จะเห็นได้ว่าการแจกเงินจะแบ่งเป็น 2 เดือนคือเมษายนและพฤษภาคม แสดงให้เห็นว่ามาเลเซียเตรียมที่จะขยาย MCO ไปอีกอย่างน้อยถึงเดือนพฤษภาคม

 

โควิด-19 มาเลเซีย

 

J.P. Morgan ระบุว่ามาตรการ MCO จะทำให้มาเลเซียสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มที่ยังไม่มีความเสี่ยงได้ แต่การระบาดจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเดิมอยู่แล้ว และคาดการณ์ว่าภายในเดือนเมษายนจะมีผู้ติดเชื้อมากถึง 6,300 ราย ในขณะที่ Malaysian Institute of Economic Research (MIER) คาดว่าจะอยู่ที่ 8,900 คน หลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะค่อยๆ ลดลง 

 

จับตรวจกลุ่มเสี่ยงอย่างเข้มข้น มาเลเซียมีการตรวจหาเชื้อไวรัสต่อจำนวนประชากรนับเป็นรายหัวสูงสุดในอาเซียนและสูงกว่าหลายประเทศในยุโรป โดยอยู่ที่ 482 ต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่ชาติอาเซียนอื่นๆ จะอยู่ที่ 6-109 ต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะนี้สามารถตรวจได้วันละ 7,500 คน และในสัปดาห์หน้าจะเพิ่มเป็น 16,500 คนต่อวัน โดยนับจนถึงวันที่ 28 มีนาคมมีการตรวจไปแล้วทั้งหมด 35,516 คน ผลเป็นบวก 2,320 คน ผลเป็นลบ 24,727 คน ยังรอผลตรวจอีก 8,459 คน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วมีผู้ติดเชื้อ 8.58% จากที่มีการตรวจทั้งหมด 

 

มาเลเซียเพิ่งได้รับชุดตรวจหาเชื้อไวรัสจากรัฐบาลจีนที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) แล้วจำนวน 1 แสนชุด และสั่งซื้อชุดตรวจที่ทราบผลเร็วขึ้นจากเกาหลีใต้อีกจำนวน 2 แสนชุด ในราคา 22-25 ริงกิตต่อชุดเท่านั้น การตรวจหาเชื้อในจำนวนที่มากและทราบผลได้เร็วจะช่วยรักษาผู้ป่วยได้ทัน ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ โดยในปลายสัปดาห์ที่แล้วอัตราการเสียชีวิตในมาเลเซียอยู่ที่ 0.77% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 4.4% แล้ว ต่ำกว่าประมาณ 2% 

 

นอกจากนี้การตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างเข้มข้นทำให้พบผู้ติดเชื้อสูงตามมา แนวทางนี้เกาหลีใต้เคยใช้ได้ผลมาแล้ว และมาเลเซียกำลังเดินตามแนวทางของเกาหลีใต้

 

การเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลขนาด 3,500 เตียง และโรงพยาบาลสนาม
ขณะนี้โรงพยาบาล Sungai Buloh ในเขตชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ ถูกปรับเป็นโรงพยาบาลหลักที่รับผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเดียว มีทั้งหมด 1,350 เตียง และโรงพยาบาลอื่นๆ กระจายไปทุกรัฐ พร้อมทั้งเตรียมโรงพยาบาลอีก 33 แห่งทั่วประเทศจำนวน 3,000 เตียง และโรงพยาบาลสนาม โดยใช้ศูนย์แสดงสินค้า Taman Ekspo Pertanian Malaysia Serdang (MAEPS) ซึ่งเป็นศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่ เป็นสถานที่กักตัวและรองรับผู้ป่วยที่มีอาการป่วยไม่รุนแรงทั้งหมด 600 เตียง แบ่งเป็นเพศชาย 400 เตียง และเพศหญิง 200 เตียง ไว้รองรับคลื่นลูกที่สามของการระบาดของโควิด-19


องค์การอนามัยโลก (WHO) เลือกไทยและมาเลเซียเป็นอีกสองประเทศเพื่อการทดลองยา Remdesivir ที่จะรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ร่วมกับอีกหลายประเทศที่มีความพร้อม

 

เมื่อวิเคราะห์ถึงแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ในมาเลเซีย ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดสูงสุดของการระบาด ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเดือนเมษายน และจะค่อยๆ ลดลงในเดือนพฤษภาคม (นอกเสียจากว่าเชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์จนทำให้ยากต่อการควบคุม สถานการณ์จะเปลี่ยนไปอีกแบบอย่างแน่นอน) เท่ากับว่ามาเลเซียต้องใช้เวลาเกือบ 3 เดือนในการต่อสู้กับการระบาดของไวรัส ผลกระทบที่จะตามมาสำหรับคนมาเลเซียในด้านชีวิตความเป็นอยู่ รัฐบาลได้จัดโครงการให้ความช่วยเหลือไปแล้วเป็นงบประมาณจำนวนมหาศาล แต่ในส่วนของคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในมาเลเซียต้องปรับตัวและปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ออกมาอย่างเคร่งครัด

 

สำหรับคนไทยในมาเลเซียประกอบด้วย 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 

 

1. คนไทยที่แต่งงานกับคนมาเลเซีย มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก  

 

2. กลุ่มนักศึกษาไทยประมาณ 1,100 คนที่ติดค้างตามหอพักของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทางมหาวิทยาลัยให้การดูแล มีอาหารฟรี 3 มื้อต่อวัน กลุ่มนี้ไม่น่ากังวลเช่นกัน  

 

3. กลุ่มคนไทยที่ทำงานในบริษัทข้ามชาติประมาณ 5,000-6,000 คน กลุ่มนี้มีเงินเดือนประจำ และยังทำงานในลักษณะ Work from Home   

 

4. เป็นแรงงานในร้านอาหารต้มยำ แรงงานประมง สวนปาล์ม ผีน้อย จำนวนนับแสนคน มากกว่า 3 กลุ่มข้างต้นรวมกัน

 

กลุ่มที่ 4 จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากมาเลเซียขยายเวลาการปิดประเทศออกไปอีก เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วเป็นลูกจ้างรายวัน ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ เพราะด่านทางบกทุกด่านของไทยปิดหมด นอกจากทางเครื่องบินเท่านั้น และต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ Fit and Flight, Fit and Travel จากคลินิกที่กำหนดไว้ไม่กี่แห่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์และรัฐยะโฮร์เท่านั้น รวมทั้งต้องได้ใบรับรองจากสถานทูตก่อนที่จะเดินทาง  

 

หลายคนกำลังเดือดร้อนเนื่องจากขาดเสบียงยังชีพ เงินเริ่มหมด เรื่องนี้จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลไทยและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องขบคิดว่าจะช่วยแรงงานไทยเหล่านี้อย่างไร จะมีการเปิดด่านให้คนไทยกลุ่มนี้กลับบ้านได้หรือไม่ และมีมาตรการกักตัวตามที่กำหนด หรือถ้าจะให้พวกเขาอยู่ในมาเลเซียไปก่อนจนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ จะมีมาตรการอะไรบ้างเพื่อช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้ 

 

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage

และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.facebook.com/thestandardth

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X