×

ผลวิจัยล่าสุดชี้ จิ้งจอกแร็กคูนที่ตลาดอู่ฮั่นอาจเป็นต้นตอแพร่โควิด

โดย THE STANDARD TEAM
18.03.2023
  • LOADING...
จิ้งจอกแร็กคูน โควิด

ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสระหว่างประเทศเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (16 มีนาคม) ว่า พวกเขาพบข้อมูลทางพันธุกรรมจากตลาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งเชื่อมโยงไวรัสโควิดกับจิ้งจอกแร็กคูนที่มีขายอยู่ที่ตลาด ซึ่งนับเป็นหลักฐานล่าสุดที่บ่งชี้ว่าโรคระบาดใหญ่ที่ร้ายแรงที่สุดในรอบศตวรรษอาจมีชนวนเหตุมาจากสัตว์ติดเชื้อผ่านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

 

ข้อมูลทางพันธุกรรมได้มาจากตัวอย่างสวอบในและรอบๆ ตลาดค้าส่งอาหารทะเลหัวหนาน การเก็บตัวอย่างเริ่มเมื่อเดือนมกราคม 2020 ไม่นานหลังจากที่ทางการจีนสั่งปิดตลาดเนื่องจากสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงกับการระบาดของไวรัสตัวใหม่ พร้อมทั้งกำจัดสัตว์ต่างๆ ออกจากตลาด โดยนักวิจัยได้ทำการสวอบผนัง พื้น กรงโลหะ และเกวียนที่มักใช้ขนส่งกรงสัตว์

 

ในตัวอย่างผลสวอบที่ออกมาเป็นบวกนั้น ทีมวิจัยระหว่างประเทศพบสารพันธุกรรมของสัตว์จำนวนมากที่ตรงกับจิ้งจอกแร็กคูน จากการเปิดเผยของนักวิทยาศาสตร์ 3 คนที่มีส่วนร่วมในรายงานวิจัย

 

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การผสมปนเประหว่างสารพันธุกรรมจากไวรัสกับสัตว์ไม่ได้พิสูจน์ว่าจิ้งจอกแร็กคูนติดเชื้อ และแม้ว่าจิ้งจอกแร็กคูนติดเชื้อ ก็ไม่ชัดเจนว่าสัตว์นั้นแพร่เชื้อไวรัสสู่คน สัตว์อื่นสามารถแพร่เชื้อไวรัสสู่คนได้ หรือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสอาจแพร่เชื้อไวรัสไปยังจิ้งจอกแร็กคูนได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์พบว่า จิ้งจอกแร็กคูนได้ฝากลายเซ็นทางพันธุกรรมไว้ในสถานที่เดียวกับที่สารพันธุกรรมไวรัสถูกทิ้งไว้ ซึ่งหลักฐานดังกล่าวนี้สอดคล้องกับกรณีที่ไวรัสแพร่กระจายจากสัตว์ป่าเข้าสู่มนุษย์

 

รายงานที่มีรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับผลการค้นพบของทีมวิจัยนานาชาติยังไม่ได้รับการเผยแพร่ การวิเคราะห์ของทีมวิจัยกลุ่มนี้ได้รับการรายงานครั้งแรกโดยนิตยสาร The Atlantic

 

แม้ว่าหลักฐานใหม่ไม่ได้ตอบคำถามว่าการแพร่ระบาดเริ่มต้นอย่างไร แต่แน่นอนว่ามันสร้างความสั่นคลอนให้กับการถกเถียงเกี่ยวกับสาเหตุของการแพร่ระบาด

 

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทฤษฎีไวรัสรั่วไหลจากห้องแล็บในอู่ฮั่นกลับมาประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังจากการประเมินข่าวกรองใหม่ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ และจากการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ 

 

แต่ข้อมูลทางพันธุกรรมจากตลาดถือเป็นหนึ่งในหลักฐานที่จับต้องได้มากที่สุดว่าไวรัสสามารถแพร่จากสัตว์ป่านอกห้องทดลองสู่คนได้ นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์จีนให้หลักฐานที่ไม่ครบถ้วน

 

เจเรมี คามิล นักไวรัสวิทยาแห่งศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพชรีฟพอร์ต มหาวิทยาลัยลุยเซียนาสเตท ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้ กล่าวว่า การค้นพบล่าสุดแสดงให้เห็นว่า “ตัวอย่างจากตลาดที่พบสายพันธุ์ของโควิดในยุคแรกนั้นปนเปื้อนด้วยค่า DNA ของสัตว์ป่า”

 

ดร.คามิลกล่าวว่า หลักฐานที่ได้ยังไม่เพียงพอที่จะระบุชี้ชัดลงไปว่าสัตว์ที่ติดเชื้อเป็นต้นตอของโรคระบาด แต่มันทำให้ความสนใจพุ่งไปที่การค้าสัตว์ผิดกฎหมาย

 

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่ได้จากการเก็บและศึกษาตัวอย่างในตลาดเดียวกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนพบผลตรวจโควิดเป็นบวกเช่นกัน แต่ระบุว่าเชื้อไวรัสมาจากผู้ติดเชื้อที่ไปซื้อของหรือทำงานในตลาด ไม่ใช่จากสัตว์ที่ถูกขายที่นั่น

 

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ฟลอเรนซ์ เดบาร์เร นักชีววิทยาวิวัฒนาการแห่งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส บังเอิญเข้าไปค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตลาดหัวหนานใน GISAID ซึ่งเป็นฐานข้อมูลระหว่างประเทศที่เก็บลำดับพันธุกรรมของไวรัส เธอเผยว่า เธอสังเกตเห็นลำดับที่ปรากฏขึ้นมากกว่าปกติ จึงได้แจ้งเตือนนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เนื่องจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสต่างเฝ้ารอข้อมูลดังกล่าวจากตลาดหัวหนาน

 

หลังจากที่ทีมงานระหว่างประเทศพบกับข้อมูลใหม่ พวกเขาติดต่อนักวิจัยชาวจีนที่อัปโหลดไฟล์ข้อมูลดังกล่าวพร้อมข้อเสนอทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎของระบบคลังข้อมูลออนไลน์ GISAID แต่หลังจากนั้นลำดับพันธุกรรมดังกล่าวกลับหายไปจาก GISAID และยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครลบข้อมูลออก หรือทำไมข้อมูลจึงถูกลบออก

 

ดร.เดบาร์เรกล่าวว่า ทีมวิจัยกำลังหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงข้อมูลบางส่วนที่เก็บตัวอย่างจากตลาดหัวหนานและยังไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะ

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising