×

หมอธีระเผย โควิดในหลายทวีปขาลง แต่อาเซียน-เอเชียตะวันออก และไทย กำลังขาขึ้นชัดเจน ชี้ไตรมาส 2 อาจเจอติดเชื้อซ้ำมากขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
10.02.2022
  • LOADING...
Long Covid

วันนี้ (10 กุมภาพันธ์) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อโควิดทะลุ 403 ล้านคนแล้ว เมื่อวานนี้ (9 กุมภาพันธ์) ทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,298,201 คน ตายเพิ่ม 10,132 คน รวมแล้วติดไปรวม 403,304,053 คน เสียชีวิตรวม 5,792,980 คน

 

“5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมนี รัสเซีย บราซิล สหรัฐอเมริกา และตุรกี จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.4 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 78.3

 

“ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 51.24 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 34.43 โดยเมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 

“ภาพรวมการระบาดของโอมิครอนทั่วโลก หลายทวีปเป็นขาลง ทั้งยุโรป อเมริกาเหนือและใต้ โอเชียเนีย และแอฟริกา ส่วนทวีปเอเชียชะลอตัว ยกเว้นหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ซึ่งกำลังอยู่ในขาขึ้นชัดเจน รวมถึงประเทศไทยด้วย”

 

นอกจากนี้ รศ.นพ.ธีระ ได้คาดการณ์ไตรมาส 2/65 หลังการระบาดของโอมิครอนในเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าขาลงของไทยจะมีจำนวนการติดเชื้อต่อวันในระดับสูงกว่าช่วงขาลงของระลอกก่อน ดังนั้นการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอจึงมีความจำเป็น

 

“การติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันในช่วงไตรมาส 2 หากพิจารณาจากธรรมชาติการระบาดของต่างประเทศ อาจเห็นสองลักษณะที่เพิ่มมากขึ้นถ้าไม่ป้องกันให้ดีคือ จำนวนผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) จะสูงขึ้น และการติดเชื้อในกลุ่มประชากรที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนจะมากขึ้นได้

 

“ซึ่งทั้งสองลักษณะนั้นก็ไม่ได้ทำให้แปลกใจ เพราะสอดคล้องกับความรู้ที่มีอยู่เดิมว่า ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนนั้นหลบหลีกภูมิได้มาก และมีอัตราการทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าสายพันธุ์เดิม

 

“ทั้งนี้ สายพันธุ์ BA.2 ที่กลายพันธุ์และเป็นที่จับตามองกันอยู่นั้น ข้อมูลขณะนี้พบว่าแพร่เร็วกว่าโอมิครอนดั้งเดิมคือ BA.1 แต่การหลบหลีกภูมิคุ้มกันไม่น่าจะต่างจากเดิม และอัตราการติดเชื้อซ้ำนั้นไม่ได้มากไปกว่า BA.1

 

“และสิ่งสำคัญที่ต้องย้ำเตือนกันคือ การติดเชื้อนั้นแม้จะรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่ที่ควรระวังคือผลกระทบระยะยาวหลังจากติดเชื้อคือ Long Covid ซึ่งขณะนี้เรายังไม่ทราบชัดเจนว่าสายพันธุ์โอมิครอนจะทำให้เกิดภาวะนี้มากกว่า เท่ากับ หรือน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ ซึ่งพบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 20-40% และเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย เกิดได้ทั้งในคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง ทั้งนี้ น่าจะเห็นผลการวิจัยเรื่องนี้สำหรับสายพันธุ์โอมิครอนในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีกว่า

 

“เบื้องต้นทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบายควรแจ้งคนใกล้ชิดและคนในที่ทำงาน หยุดเรียนหรือหยุดงาน และไปตรวจรักษา เป็นการแสดงความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม

 

“โควิดนั้นจะซาลงแน่อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่นโยบายระดับชาติและการดำรงชีวิตของประชาชนต้องเป็นไปอย่างมีสติ ไม่ประมาท ขืนกระโดดไล่ตามกิเลสจะเสียหายหนักระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจาก Long Covid”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising